เครื่องประดับรักษ์โลก เทรนด์ใหม่ ผู้บริโภคใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ผู้บริโภคในปัจจุบันหันมาตระหนักและตื่นตัวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดยเฉพาะชาวตะวันตกและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้เกือบทุกอุตสาหกรรมรวมถึงแวดวงอัญมณีและเครื่องประดับต้องปรับตัวเข้าสู่แนวทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการปรับกระบวนการผลิต อาทิ การนำเศษวัสดุของเหลือใช้มาแปรสภาพเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ (Recycle) การนำสินค้าที่ใช้แล้วมาขายต่อหรือที่เรียกว่าสินค้ามือสอง (Second Hand) การนำกลับมาใช้ใหม่โดยไม่ผ่านการแปรสภาพ (Reuse) หรือการแบ่งปันในลักษณะการให้เช่าหรือยืมเครื่องประดับ (Sharing Economy) เป็นต้น เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
แนวโน้มตลาดสินค้ารักษ์โลกเติบโต
ในปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนมากต่างให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยินดีที่จะจ่ายในราคาสูงขึ้น จากการศึกษาผู้บริโภคออนไลน์ทั่วโลกของ Global Web Index พบว่า 60% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรโดยเฉพาะกลุ่มคนมิลเลนเนียล ยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และผู้บริโภคเกือบครึ่งต้องการให้แบรนด์มีส่วนร่วมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย อย่างไรก็ดี ต้นทุนถือเป็นอุปสรรคสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ แบรนด์ต่างๆ จึงพยายามผลักดันสินค้าหรูหราและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง อีกทั้งยังมีการคาดการณ์จาก Nielsen ว่ามูลค่าการตลาดกลุ่มสินค้ายั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในปี 2020 อยู่ที่ราว 142,000 ดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2021 จะมีมูลค่าประมาณ 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 5.6% จากปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ จากรายงานล่าสุดของ Transparency Market Research ระบุว่าผู้บริโภคมีความตื่นตัวและให้การสนับสนุนสินค้าที่มีฉลากที่ระบุความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนและเพิ่มคุณภาพชีวิตของตนมากขึ้น โดยคาดว่าในช่วงปี 2021 – 2029 ตลาดฉลากสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 7.9% ต่อปี ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนว่าความต้องการบริโภคสินค้ารักษ์โลกจะเติบโตสูงขึ้น โดยตลาดสำคัญจะอยู่แถบอเมริกาเหนือและยุโรป ส่วนตลาดเอเชียแปซิฟิกก็มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะจีนและอินเดีย ซึ่งมีจำนวนประชากรรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นและกลุ่มคนเหล่านี้ก็ตระหนักถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นด้วย
ต่างหูทำจากฝากระป๋องโดย NoireInk
Recycled & Reused Jewelry
เทรนด์รักษ์โลกทำให้ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับต้องปรับตัวหันมาให้ความสำคัญในการเลือกใช้วัสดุและการผลิตที่ไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำวัสดุต่างๆ มารีไซเคิล อาทิ การนำอัญมณีและเครื่องประดับเก่ามาปรับเปลี่ยน หรือนำเครื่องประดับไม่ใช้แล้วและเศษโลหะมีค่าอย่างทองคำ เงิน หรือแพลทินัม มาหลอมทำเป็นเครื่องประดับชิ้นใหม่ การสกัดเอาทองคำจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และแผงวงจรไฟฟ้า มาหลอมและนำกลับไปใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ หรือการนำเศษวัสดุเหลือใช้ อาทิ กระเบื้อง เศษพลอยสี วัสดุสิ้นเปลือง เช่น กระดาษ ขวดพลาสติก มาผลิตเป็นเครื่องประดับที่สร้างเอกลักษณ์โดดเด่น
จากรายงานของ World Gold Council พบว่า ทองคำรีไซเคิลมีสัดส่วน 28% ของปริมาณทองคำทั่วโลกในปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ 4,633 ตัน โดย 90% ของทองคำรีไซเคิลมาจากเครื่องประดับเก่าที่ไม่ใช้แล้วและจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมคาดว่า การนำโลหะมีค่ามาหลอมใหม่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต่างมุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
สหรัฐฯ เป็นตลาดที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยจึงเริ่มเจาะตลาดกลุ่มนี้และสร้างยอดขายเพิ่มมากขึ้น เช่น Hoover & Strong ผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับจำหน่ายในสหรัฐฯ กว่า 20 รัฐนั้น ถือเป็นผู้ผลิตเครื่องประดับรีไซเคิลรายแรกๆ ที่เข้าสู่ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผลิตอัญมณีและเครื่องประดับจากทองคำ แพลทินัม และเงินรีไซเคิลทั้งหมด อีกทั้งเครื่องประดับก็ตกแต่งจากอัญมณีทั้งเพชรและพลอยสีที่มีการค้าอย่างเป็นธรรมด้วย
ล่าสุดแพนดอร่า ผู้ผลิตเครื่องประดับเงินรายใหญ่ที่สุดในโลกประกาศว่า บริษัทจะใช้ทองคำและเงินรีไซเคิล 100%ในการผลิตสินค้าของบริษัททั้งหมดภายในปี 2025 โดยแพนดอร่าประเมินว่าทองคำรีไซเคิลจะปล่อยก๊าซคาร์บอนเพียง 0.16% ของทองคำที่ผลิตจากเหมือง ขณะที่แบรนด์สินค้าหรูอย่าง Bvlgari และ Cartier ก็เพิ่มการใช้โลหะรีไซเคิลมากขึ้นเช่นกัน
ส่วนในไทย มีผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับรีไซเคิล อาทิ แบรนด์ Basic Teeory นำวัสดุเหลือใช้อย่างกระดาษรีไซเคิล เศษแก้ว เศษกระจก ก้อนกรวด หรือแม้แต่เม็ดทราย มาทำเป็นตัวเรือนอัญมณีและเครื่องประดับคู่กับการร้อยกระดาษ ให้ดูเก๋ถูกใจคนทุกวัย หรือแบรนด์ P9 Bangkok ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับไทยร่วมสมัยก็ได้นำวัสดุที่ไม่ผ่านมาตรฐานหรือไม่สมบูรณ์จากโรงงาน เช่น เศษชามตราไก่ มาผลิตเป็นอัญมณีและเครื่องประดับดอกไม้มงคล เป็นต้น
อัญมณีเครื่องประดับแบรนด์ Basic Teeory ที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล
อัญมณีและเครื่องประดับแหวนแบรนด์ P9 Bangkok ที่ทำจากเศษชามกระเบื้อง
Second-Hand Jewelry
การซื้ออัญมณีและเครื่องประดับมือสองช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากในการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับแต่ละชิ้นต้องใช้โลหะมีค่าซึ่งมีกระบวนการได้มาที่ซับซ้อนและสัมพันธ์กับการเผาไหม้เชื้อเพลิง ขณะที่เพชรและพลอยสีก็ต้องขุดจากเหมืองซึ่งมักมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การซื้ออัญมณีและเครื่องประดับมือสองจึงช่วยลดความจำเป็นในการเกิดกระบวนการเหล่านี้ และส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
คนรุ่นใหม่กลุ่มมิลเลนเนียลและคนเมืองมีแนวโน้มเลือกใช้อัญมณีและเครื่องประดับไฮเอนด์มือสองเพิ่มขึ้น ทั้งจากการตระหนักในความยั่งยืนของสินค้าฟุ่มเฟือย และจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤติการแพร่ระบาดโรคโควิด -19 ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าหรูในราคาต่ำลง รวมถึงความพร้อมของแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการจำหน่ายสินค้าฟุ่มเฟือยมือสอง ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก และมักมีใบรับรองคุณภาพสินค้าแนบอยู่ด้วย ตัวอย่างเช่น eBay, Amazon และ Craigslist เป็นต้น เหล่านี้ถือเป็นเว็บไซต์จำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับมือสองยอดนิยมของโลก ซึ่งผู้ขายสามารถทำรายได้จากการขายอัญมณีและเครื่องประดับมืองสองได้ถึง 30 – 60% ของราคาสินค้ามือหนึ่ง
ตัวอย่างอัญมณีเครื่องประดับมือสองบนเว็บไซต์ Craigslist
จากรายงานผลการศึกษาของ Boston Consulting Group (BCG) พบว่า ปัจจุบันตลาดสินค้าหรูมือสองของโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาฬิกาและอัญมณีเครื่องประดับมีมูลค่าประมาณ 21,000 ล้านยูโร และคาดว่าในช่วงปี 2020 – 2025 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าอุตสาหกรรมสินค้าฟุ่มเฟือยโดยรวม ทั้งนี้ ตลาดหลักของอัญมณีเครื่องประดับมือสองหรูหรา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน
นอกจากนี้ ปัจจุบันแบรนด์สินค้าหรูต่างเพิ่มไลน์ขายสินค้ามืองสองเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้า อาทิ Cartier ได้นำเสนออัญมณีเครื่องประดับมือสองที่เป็นสัญลักษณ์ของมรดกตกทอดควบคู่ไปกับการขายอัญมณีและเครื่องประดับชิ้นใหม่ ซึ่งตอกย้ำประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัท รวมถึง Harrods ห้างดังสัญชาติอังกฤษ นอกจากจะจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับมือหนึ่งแล้วยังจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับมือสองจากแบรนด์ดังต่างๆ เช่น Bvlgari, Cartier, CHANEL อีกด้วย
สำหรับไทย อัญมณีและเครื่องประดับมือสองก็เป็นที่นิยมไม่น้อย โดยมักจะหาซื้อได้หลากหลายแหล่งทั้งโรงรับจำนำ ร้านค้าปลีกอัญมณีและเครื่องประดับ ตลาดนัด ร้านค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Shoppee.com, thai.biggo.com และสื่อสังคมออนไลน์ เช่น อินสตาแกรม เฟสบุ๊ค เป็นต้น
Jewelry for Rent
เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน หมายถึงเศรษฐกิจที่ผู้บริโภคหันมาเช่า-ยืมแทนการครอบครอง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ชอบความคล่องตัว ปรับเปลี่ยนง่ายและเร็ว จึงไม่ค่อยจะลงทุนซื้อสินทรัพย์ถาวร ไม่ใช่เพียงแค่ของชิ้นใหญ่อย่างบ้านหรือรถเท่านั้น แต่รวมไปถึงของชิ้นเล็กๆ อย่างอัญมณีและเครื่องประดับ กระเป๋า หรือเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น อีกทั้งความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้โมเดลธุรกิจแบบแบ่งปันนี้ เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คาดการณ์กันว่าภายในปี 2025 กว่า 50% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจโลกจะมาจากธุรกิจให้เช่าในรูปแบบ Sharing Economy โดยปัจจุบันธุรกิจให้เช่าอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่าตลาดราว 258,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถทำอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) สูงถึง 90% เลยทีเดียว
ปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับจำนวนไม่น้อยได้หันมาค้าอัญมณีและเครื่องประดับตามโมเดล Sharing Economy ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา Flont เป็นบริษัทให้เช่า
อัญมณีและเครื่องประดับแบรนด์หรู (Bvlgari, Tiffany & Co. และ Cartier เป็นต้น) นับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนตุลาคม 2016 เป็นต้นมา บริษัทมีรายได้เติบโตถึง 100% ซึ่งส่งสัญญาณถึงความต้องการบริการประเภทนี้ในหมู่ผู้ชื่นชอบอัญมณีและเครื่องประดับ
ตัวอย่างอัญมณีเครื่องประดับให้เช่าบนเว็บไซต์ https://flont.com/
นอกจากนี้ ยังมี Glitzbox ผู้ให้บริการเช่าอัญมณีและเครื่องประดับออนไลน์รายแรกของอังกฤษ ให้เช่าอัญมณีและเครื่องประดับเงิน อัญมณีเครื่องประดับทอง และอัญมณีเครื่องประดับตกแต่งพลอยสี มีค่าธรรมเนียมเดือนละ 50 ปอนด์ รวมถึงในตลาดอินเดีย ก็มีผู้ประกอบการหลายร้อยรายให้บริการเช่าอัญมณีเครื่องประดับผ่านระบบออนไลน์ อาทิ Indiamart, Rent2cash, OLX, Quikr, Rentsher และ JustDial เป็นต้น
ในส่วนของไทย ก็มีบริการให้เช่าอัญมณีเครื่องประดับ (ส่วนใหญ่เป็นการให้เช่าสำหรับใส่ในพิธีแต่งงาน) ทั้งจากร้านค้าปลีกอัญมณีเครื่องประดับที่มีหน้าร้าน เช่น CAELI JEWELRY ที่นอกจากจะจำหน่ายอัญมณีเครื่องประดับเพชรแล้วยังมีบริการให้เช่าสินสอดเพชรและอัญมณีเครื่องประดับเพชรเพื่อใช้ใส่ในพิธีแต่งงานด้วย หรือเว็บไซต์ เช่น www.kaidee.com รวมถึงสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค และอินสตาแกรม เป็นต้น
อัญมณีและเครื่องประดับให้เช่าของร้าน CAELI JEWELRY
อัญมณีและเครื่องประดับให้เช่าของร้าน Jewel de Bride
นอกจากนี้ แพคเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ชาวมิลเลนเนียล อัญมณีและเครื่องประดับที่มีแพคเกจจิ้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงได้รับความนิยมตามไปด้วย ทั้งนี้ Fortune Business Insights ประเมินว่า ธุรกิจแพคเกจจิ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในปี 2021 มีมูลค่าตลาดทั่วโลกราว 267,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าตลาดในช่วงปี 2021 – 2028 จะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5.3%
จากกระแสความตระหนักและห่วงใยสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับจะต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลกที่มุ่งไปสู่การบริโภคและการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และนับเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของโลกได้อย่างยั่งยืน
ข้อมูลอ้างอิง
2) The New York Times. 2021. Does Recycled Gold Herald a Greener Future for Jewelry? [Online]. Available at www.nytimes.com/2021/04/23/fashion/jewelry-recycled-gold.html. (Retrieved June 5, 2021).
3) Transparencymarketresearch. 2021. Environmental Concerns Being Resolved by Eco-friendly Solutions. [Online]. Available at www.transparencymarketresearch.com/eco-friendly-labels-market.html. (Retrieved June 10, 2021).