ความตกลง CEPA อินเดีย-ยูเออี ผลต่ออัญมณีและเครื่องประดับไทย
อินเดียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ได้ลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) ในการประชุมสุดยอด India-UAE Virtual Summit เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยมีผลบังคับใช้ในการลดและยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 เป็นต้นมานั้น ทำให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียมีแต้มต่อในตลาดยูเออีมากขึ้น และใช้ยูเออีเป็นประตูสู่ตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ในขณะที่ไทยอาจเสียเปรียบอินเดียในเรื่องของต้นทุนสินค้าที่สูงกว่าจากภาษีนำเข้าในอัตราปกติ โดยเฉพาะสินค้าที่อินเดียมีศักยภาพอย่างเครื่องประดับทอง ที่อาจทำให้การเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเครื่องประดับทองในยูเออีทำได้ยากขึ้น แต่สินค้าศักยภาพของไทยอย่างพลอยสีจะไม่ได้รับผลกระทบจากความตกลงนี้ และไทยน่าจะส่งออกพลอยสีไปยังอินเดียและยูเออีได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันไทยจะได้รับผลดีจากการส่งออกวัตถุดิบและสินค้ากึ่งวัตถุดิบไปยังอินเดียเพื่อส่งออกต่อและแปรรูปเป็นเครื่องประดับส่งออกไปยังยูเออีและตลาดในตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น
ความตกลง CEPA อินเดีย-ยูเออี
ความตกลง CEPA ระหว่างอินเดียและยูเออี มีสาระสำคัญในการลดและยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันครอบคลุมสินค้ากว่า 80% ของการค้าสินค้าทั้งหมด โดยอินเดียทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งมีภาษีนำเข้าสูงสุด 25% เป็น 0 ภายใน 10 ปี ส่วนยูเออีลดภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากเดิมสูงสุดไม่เกิน 5% เป็น 0 ทั้งหมดทันทีที่มีผลบังคับใช้ปรากฎรายละเอียดตามตาราง รวมถึงขจัดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี มีมาตรการป้องกันกรณีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกำหนดสัดส่วนวัตถุดิบภายในประเทศผู้ผลิต (Local Content) ไม่น้อยกว่า 40% ของสินค้าที่ส่งออกระหว่างกัน ตลอดจนกฎระเบียบเกี่ยวกับการตรวจเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: CO) โดยความตกลงฉบับดังกล่าวมีเป้าหมายส่งเสริมให้มีการค้าระหว่างกันเป็นมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่การค้าระหว่างอินเดียและยูเออีในปี 2019 มีมูลค่าราว 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มมูลค่าการค้าภาคบริการเป็น 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะเวลา 5 ปี
"เป้าหมายของ CEPA อินเดีย-ยูเออี เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าสินค้า บริการ
รวมถึงการลงทุน และจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นล้านตำแหน่งในอินเดียและยูเออี"
ตารางอัตราภาษีนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียและยูเออี
ที่มา: www.worldtariff.com และ Department of Commerce, Ministry of Commerce and Industry (Government of India)
นอกจากภาษีนำเข้าแล้วอินเดียและยูเออียังมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยอินเดียใช้ระบบ GST (Goods and Services Tax) ในอัตรา 0.25% – 3% ดังนี้ เพชรก้อน พลอยก้อน และอัญมณีสังเคราะห์ถูกเก็บ GST ในอัตรา0.25% เพชรเจียระไนถูกเก็บ GST ที่ 1.5% ส่วนสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่เหลือถูกเก็บ GST ในอัตรา 3% ในขณะที่ยูเออีเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทุกสินค้าในอัตราเดียวกันที่ 5%
ภาพรวมการค้าระหว่างอินเดียและยูเออี
จากสถิติของ Global Trade Atlas พบว่า นับจากปี 2019 ถึงปี 2022 การค้าระหว่างอินเดียและยูเออีขยายตัวขึ้นโดยตลอด ในปี 2022 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 84,228 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงครึ่งหลังปี 2022 ที่มีการลงนาม CEPA แล้วมูลค่าการค้าสินค้ารวมระหว่างอินเดียกับยูเออีเพิ่มขึ้นราว 13% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 42,083 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่มีมูลค่า 37,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยูเออีเป็นตลาดส่งออกในอันดับ 2 ของอินเดีย รองจากสหรัฐอเมริกา และอินเดียนำเข้าสินค้าจากยูเออีเป็นอันดับ 2 รองจากจีน ส่วนอินเดียนั้นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ในยูเออี และยูเออีนำเข้าจากอินเดียเป็นอันดับ 2 รองจากจีน โดยอินเดียส่งออกสินค้าหลักไปยังยูเออี ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมและก๊าซไฮโดรคาร์บอน เครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และเครื่องโทรศัพท์รวมถึงเครื่องโทรศัพท์สำหรับเครือข่ายเซลลูลาร์หรือสำหรับเครือข่ายไร้สายอื่นๆ เป็นต้น ด้านการนำเข้า พบว่าอินเดียนำเข้าสินค้าหลักจากยูเออี ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซปิโตรเลียมและก๊าซไฮโดรคาร์บอน เพชรก้อน ทองคำ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
การค้าอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียและยูเออี
อินเดีย
อินเดียเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคอัญมณีและเครื่องประดับรายใหญ่ของโลก ในปี 2022 อินเดียนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากยูเออีสูงที่สุด รองลงมาคือ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และเบลเยียม ตามลำดับ โดยสินค้านำเข้าจากยูเออีส่วนใหญ่กว่า 62% เป็นเพชรก้อน รองลงมาเป็นทองคำและโลหะแพลทินัม ตามลำดับ ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 14 ซึ่งอินเดียนำเข้าเพชรเจียระไนจากไทยมากที่สุดในสัดส่วนราว 70% รองลงมาเป็นเครื่องประดับเงิน โลหะเงิน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน พลอยก้อน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ตามลำดับ
รูปที่ 1 แหล่งนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียระหว่างปี 2020 - 2022
ด้านการส่งออกพบว่า อินเดียส่งออกไปยังยูเออี เป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ตามลำดับ ซึ่งอินเดียส่งออกสินค้าหลักไปยังยูเออีในสัดส่วนกว่า 56% เป็นเครื่องประดับทอง รองลงมาคือ เพชรเจียระไน และอัญมณีสังเคราะห์ ตามลำดับ ทั้งนี้ เครื่องประดับทองที่อินเดียส่งออกไปยังยูเออีนั้น ส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับทอง 21K และ 22K เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชาวอาหรับและชาวเอเชียใต้ที่อยู่อาศัยและท่องเที่ยวในยูเออี ส่วนเครื่องประดับทอง 18K ทั้งตกแต่งและไม่ตกแต่งอัญมณีเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ และชาวตะวันตกที่เป็นนักท่องเที่ยวและที่อาศัยอยู่ในยูเออี
ส่วนไทยเป็นตลาดส่งออกในอันดับที่ 6 ของอินเดีย โดยสินค้าส่งออกจากอินเดียไปยังไทยเกือบ 90% เป็นเพชรเจียระไน รองลงมาเป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ส่วนใหญ่ราว 80% เป็นการส่งออกมรกต รองลงมาเป็นทับทิม และแซปไฟร์) อัญมณีสังเคราะห์ และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ตามลำดับ
รูปที่ 2 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียระหว่างปี 2020 - 2022
ที่มา: Global Trade Atlas
ที่มา: Global Trade Atlas