แนวโน้มความนิยมเครื่องประดับหรูสำหรับผู้ชาย
เครื่องประดับชายมีอยู่มากมายในตลาด เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรถ้าคุณเป็นคนที่สนใจเรื่องแฟชั่นหรือรู้จักคนหนุ่มสาว การสวมใส่เครื่องประดับไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนรันเวย์แฟชั่นเท่านั้น หนุ่มๆ สวมใส่ต่างหู แหวน สร้อยข้อมือ สร้อยคอ และเครื่องประดับอื่นๆ กันเต็มที่ เราอาจจะเรียกกระแสนี้ว่าเป็น Harry Styles Effect (นักร้องหนุ่มผู้ชื่นชอบการสวมใส่เครื่องประดับมุก) หรืออาจจะเป็น Gen Z Comfort ที่มีขอบเขตการแบ่งแยกเพศเลือนราง แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร เครื่องประดับก็กำลังเป็นดาวเด่นอยู่นั่นเอง
Vicky Reynolds หัวหน้านักอัญมณีศาสตร์ และรองประธานของ Tiffany & Co. ซึ่งป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการส่งเสริมให้เกิดความนิยมในเครื่องประดับหรูสำหรับลูกค้าเพศชายได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในระหว่างการมาเยือนแฟล๊กชิพสโตร์ของ Tiffany & Co. ที่เปิดในนครซิดนีย์ตั้งแต่เมื่อปี 2562 ไว้ว่า เครื่องประดับผู้ชายเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัวมาตลอดเนื่องด้วยคนรุ่นใหม่เปิดกว้างพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ
“พวกเขาไม่ได้ถูกผูกมัดด้วยธรรมเนียมปฏิบัติและพร้อมที่จะออกนอกกรอบ ฉันเห็นผู้ชายใส่สร้อยคอที่สวยงาม และก็ดูดีเสียด้วย มันอยู่ที่ว่าคุณรู้สึกโอเคกับมันแค่ไหน บางคนสามารถนำเครื่องประดับไปปรับให้เข้ากับสไตล์ของตนเองได้เป็นอย่างดี ฉันได้ขายสร้อยคอเพชร จี้ชิ้นสวย... ฉันชอบที่สามารถแมทช์เครื่องประดับเข้ากับบุคลิกของแต่ละคนได้ และอีกเทรนด์หนึ่งที่มาแรงช่วงเร็วๆ นี้ก็คือ การที่ผู้ชายติดเข็มกลัดกันมากขึ้น เพราะความเปิดกว้างและเพื่อแสดงตัวตนของแต่ละคน” Reynolds กล่าว
เครื่องประดับตกแต่งด้วยเพชรและพลอยสีจากแบรนด์ Tiffany & Co.
ที่มา : www.gq.com.au
นอกจากนี้ เธอยังได้กล่าวเสริมไว้ด้วยว่า เครื่องประดับดั้งเดิมที่มีอยู่ในตลาดอย่างแหวนหมั้นหรือแหวนแต่งงานในปัจจุบันก็ล้วนมีลูกเล่นมากขึ้น จากเดิมที่เพชรครองอันดับหนึ่งมาตลอด จากนี้ไปจะมีแซปไฟร์ ทับทิม ทัวร์มาลีน เพิ่มเข้ามาเป็นทางเลือก ขึ้นกับการให้ความหมายของอัญมณีนั้นๆ ที่มีความเชื่อมโยงหรือแสดงให้เห็นตัวตนของผู้สวมใส่ โดยอาจเป็นเรื่องของสีที่มีความหมายบางอย่างต่อคู่บ่าวสาว เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2566 Tiffany & Co. มีกิจกรรมไม่ว่างเว้น อีกทั้งยังมีการเปิดตัวแฟล็กชิพสโตร์ในนิวยอร์กซิตี้ โดยเป็นอาคารสูง 10 ชั้นขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนถนนสาย 57 ตัดกับ Fifth Avenue ในแมนฮัตตัน เป็นที่รู้จักในชื่อ The Landmark ได้กลับมาเปิดทำการอีกครั้งหลังการปรับโฉมเป็นเวลาสี่ปี
แปลและเรียบเรียงโดย ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ธันวาคม 2566