อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับตั้งเป้าลดคาร์บอนฟุตพรินท์
ในปี 2020 ทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณราว 2.4 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นอัตราการลดลงมากที่สุดเนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีการใช้พลังงานจากภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ รวมถึงการคมนาคมขนส่งในประเทศและระหว่างประเทศลดน้อยลง จนส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลงตามไปด้วย โดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนของสหรัฐอเมริกาลดลงมากที่สุดถึงร้อยละ 12 ตามมาด้วยสหภาพยุโรป อินเดีย และจีน ที่ลดลงร้อยละ 11, 9 และ 1.7 ตามลำดับ แต่ในปี 2021 นักวิจัยจากโครงการ The University of Exeter and The Global Carbon ของ University of East Anglia คาดว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีการกระตุ้นของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดและนโยบายในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ตาม
ทั้งนี้ มลพิษทางอากาศล้วนเกิดจากการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง ภาคธุรกิจและอาคารที่อยู่อาศัยคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 73.2 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก รองลงมาเป็นภาคการเกษตร ป่าไม้ และการใช้ที่ดินในสัดส่วนร้อยละ 18.4 ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศในปริมาณสูง ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก (Green House Effect) และมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
ที่มา: https://www.visualcapitalist.com
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่แหล่งผลิตวัตถุดิบไปจนถึงการขนส่งสินค้าเครื่องประดับถึงมือผู้บริโภคเช่นกัน วงจรการผลิตที่ทำให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินท์ที่สูงส่วนใหญ่เกิดจากการทำเหมืองแร่อัญมณีและโลหะมีค่า ตลอดจนกระบวนการผลิตขั้นตอนต่างๆ จนกลายเป็นชิ้นงานเครื่องประดับ ซึ่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
ในอุตสาหกรรมต้นน้ำมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูง โดยเริ่มต้นจากการทำพื้นที่ให้โล่งเพื่อเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบทั้งเพชร พลอยสี และโลหะมีค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเหมืองเปิด จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนการทำเหมืองอัญมณีและโลหะมีค่าซึ่งสร้างคาร์บอนอีกเช่นกัน ขั้นตอนการทำพื้นที่ให้โล่งและการทำเหมืองนั้นได้สร้างคาร์บอนฟุตพรินท์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 95 ของทั้งหมด ส่วนกระบวนการผลิตเครื่องประดับนั้นสร้างคาร์บอนฟุตพรินท์คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 5
หากประเมินถึงคาร์บอนฟุตพรินท์ที่เกิดจากเครื่องประดับสักชิ้น อย่างเช่นต่างหูทองรูปหัวใจหนึ่งคู่จะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 31 กิโลกรัม หรือใกล้เคียงกับการขับรถยนต์นั่งขนาดเล็กเป็นระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร ต่างหูแบบเดียวกันที่ทำจากแพลทินัมก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินท์สูงเป็น 3 เท่า ขณะที่ต่างหูเงินจะผลิตคาร์บอนเพียงราว 0.34 กิโลกรัมเท่านั้น ขณะที่สร้อยคอทองคำที่มีความยาว 46 เซนติเมตร จะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 109 กิโลกรัม สร้อยคอที่ทำด้วยแพลทินัมจะผลิตคาร์บอนสูงถึง 345 กิโลกรัม แต่สร้อยคอเงินก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินท์เพียง 1.2 กิโลกรัม จะเห็นได้ว่าคาร์บอนฟุตพรินท์ของเครื่องประดับแต่ละชิ้นนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ โดยเงินเป็นโลหะมีค่าที่มีคาร์บอนฟุตพรินท์ต่ำที่สุด กล่าวคือ เงิน 1 ตันก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ 520 ตัน ในขณะที่ทองคำ 1 ตันก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 38,100 ตัน และแพลทินัม 1 ตันนั้นก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 77,000 ตันเลยทีเดียว ในขณะที่การผลิตเพชรเจียระไน 1 กะรัตนั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 160 กิโลกรัม หรือเทียบเท่ากับปริมาณการปล่อยก๊าซจากการขับรถยนต์เป็นระยะทางประมาณ 628 กิโลเมตร
ปรับกระบวนการผลิต ใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินท์
ปัจจุบันหลายบริษัทในภาคอุตสาหกรรมนี้ได้หันมาให้ความสำคัญกับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยการปรับกระบวนการผลิตและหันมาใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ อาทิเช่น สมาคม The Diamond Producers Association (DPA) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Natural Diamond Council (NDC) ได้ตระหนักถึงปัญหาและศึกษาถึงผลกระทบดังกล่าว โดยเผยแพร่รายงานวิจัยเรื่อง “ผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองเพชรขนาดใหญ่” (The Socioeconomic and Environmental Impact of Large-Scale Diamond Mining) ซึ่งกล่าวถึงประโยชน์และผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนท้องถิ่น ลูกจ้าง และสภาพแวดล้อม อันเกิดจากการทำเหมืองแร่ของสมาชิกสมาคมอันประกอบด้วยผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ของโลก 7 บริษัท ได้แก่ ALROSA, De Beers Group, Dominion Diamond Mines, Lucara Diamond Corp., Murowa Diamonds, Petra Diamonds และ Rio Tinto ซึ่งมีปริมาณการผลิตเพชรรวมกันกว่าร้อยละ 75 ของการผลิตเพชรทั่วโลก และมีการจ้างงานมากกว่า 77,000 คนทั่วโลก โดยผู้ผลิตเพชรแต่ละรายได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนออกสู่บรรยากาศจากการทำเหมืองเพชร ซึ่งริเริ่มลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานไฟฟ้า เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทน และศึกษาโครงการวิจัยในการดักจับและเก็บก๊าซคาร์บอนเพื่อที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ที่มา: Natural Diamond Council (NDC)
ขณะที่ De Beers ตั้งเป้าชดเชยคาร์บอนจากการดำเนินงานให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 โดยประกาศเป้าหมายด้านความยั่งยืน 12 ข้อสำหรับทศวรรษหน้า ซึ่งรวมถึงการปรับการดำเนินงานเพื่อให้มีการชดเชยคาร์บอนเป็นศูนย์ การให้ข้อมูลแหล่งที่มาของเพชรทุกเม็ด และการสร้างความเท่าเทียมทางเพศในการดำเนินงานทุกฝ่าย อันเป็นส่วนหนึ่งในกรอบแนวทางใหม่ของทางบริษัทที่มีชื่อว่า Building Forever ซึ่งใช้ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์แบรนด์ De Beers เพราะ De Beers ตระหนักดีว่าพื้นที่บางส่วนที่ดำเนินงานอยู่นั้นเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงได้เริ่มใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้การดำเนินงานใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น