ตลาดเครื่องประดับแต่งงานกลับมาเฟื่องฟูในปี 2022
หลังจากที่คู่รักในหลายประเทศได้เลื่อนการแต่งงานในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ก็ได้กลับมาจัดงานในปี 2022 ผลักดันให้เครื่องประดับแต่งงานซึ่งมีสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของตลาดเครื่องประดับโดยรวมเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดเครื่องประดับของโลกให้กลับมาคึกคักอีกครั้งในปีนี้ โดยคู่รักมีแนวโน้มใช้จ่ายในงานแต่งงานรวมถึงเครื่องประดับที่ใช้ในพิธีเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของ dataintelo.com พยากรณ์ว่าในช่วงปี 2021 – 2028 ตลาดเครื่องประดับแต่งงานของโลกจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.4%
สำหรับตลาดเครื่องประดับแต่งงานที่น่าสนใจและมีแนวโน้มขยายตัวดี อาทิ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และจีน ซึ่งเป็นตลาดเครื่องประดับแต่งงานขนาดใหญ่ของโลก รวมถึงสหราชอาณาจักร ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตดีและเป็นตลาดเครื่องประดับแต่งงานโดดเด่นแห่งหนึ่งในยุโรป โดยทั้ง 4 ตลาดดังกล่าวล้วนเป็นตลาดหลักสำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย
สหรัฐอเมริกา
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานในสหรัฐฯ มีมูลค่าตลาดโดยรวมมากที่สุดในโลก จากข้อมูลของ The Wedding Report รายงานว่า ก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 มีจำนวนคู่แต่งงานในสหรัฐฯ ประมาณ 2.1 ล้านคู่ต่อปี แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิดจำนวนคู่แต่งงานลดลงเหลือ 1.2 ล้านคู่ในปี 2020 และ 1.9 ล้านคู่ในปี 2021 ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2022 จำนวนคู่แต่งงานในสหรัฐฯ จะมีจำนวนราว 2.5 ล้านคู่ เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากปี 2021 โดยเป็นจำนวนคู่แต่งงานที่สูงที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ นอกจากนี้ยังคาดว่าคู่แต่งงานจะใช้จ่ายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 8% จากปี 2021 ที่มีมูลค่า 22,500 ดอลลาร์สหรัฐเป็น 24,300 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022
แหวนหมั้นและแหวนแต่งงานเป็นสิ่งที่คู่รักในสหรัฐฯ ให้ความสำคัญมากที่สุดในบรรดาเครื่องประดับแต่งงานทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ยังคงนิยมแหวนเพชรที่มีคุณภาพ แต่มีแนวโน้มต้องการแหวนที่ผ่านการออกแบบและผลิตอย่างประณีตโดยช่างฝีมือมากขึ้น นอกจากแหวนเพชรแท้แล้ว แหวนเพชรสังเคราะห์และแหวนพลอยสีอย่างไพลิน ทับทิม และมรกต ก็เป็นที่ต้องการของคู่แต่งงานมากขึ้น จึงทำให้แบรนด์ต่างๆ ในสหรัฐฯ เพิ่มการจำหน่ายแหวนเพชรสังเคราะห์และแหวนพลอยสีเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าอีกทางหนึ่งด้วย
แหวนหมั้นแซปไฟร์ล้อมเพชรแบรนด์ Blue Nile
ที่มาภาพ: www.bluenile.com
ทั้งนี้ ฤดูกาลแต่งงานในสหรัฐฯ มักอยู่ในไตรมาสที่สี่ ซึ่งเดือนธันวาคมเป็นเดือนที่นิยมแต่งงานมากที่สุด นั่นหมายความว่าคู่รักจะเริ่มซื้อแหวนหมั้นและเครื่องประดับสำหรับงานแต่งงานในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน
อินเดีย
อินเดียเป็นตลาดแต่งงานที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และชาวอินเดียเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ใช้จ่ายซื้อเครื่องประดับรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมูลค่าการใช้จ่ายภายในประเทศสำหรับเครื่องประดับในแต่ละปีราว 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการใช้จ่ายซื้อเครื่องประดับสำหรับงานแต่งงาน ซึ่งครอบครัวของชนชั้นกลางจะซื้อเครื่องประดับสำหรับใช้ในงานแต่งงานราว 6,700 – 33,500 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนครอบครัวที่มีรายได้สูง จะใช้จ่ายซื้อเครื่องประดับสำหรับงานแต่งงานตั้งแต่ 135,000 – 675,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วงเวลาที่นิยมจัดงานแต่งงานในอินเดียมี 2 ช่วงคือ เดือนตุลาคม - เดือนธันวาคม และเดือนมกราคม - เดือนมีนาคม
เครื่องประดับที่มีบทบาทหลักในงานแต่งงานของอินเดียยังคงเป็นชุดเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเพชรแบบดั้งเดิม (Polki Jewelry) ซึ่งเป็นเครื่องประดับเพชรซีกที่มีรูปทรงหลากหลายแบบ รวมถึงเครื่องประดับตกแต่งพลอยสีอย่างทับทิม ไพลิน และมรกต ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เจ้าสาวสมัยใหม่จำนวนมากต้องการเครื่องประดับที่มีดีไซน์ทันสมัย ทำให้เครื่องประดับแต่งงานของแบรนด์ดังระดับโลก อาทิ Tiffany & Co. และ BVLGARI ซึ่งจำหน่ายเครื่องประดับชิ้นเล็ก มีดีไซน์ทันสมัย ได้รับความนิยมในหมู่เจ้าสาวสมัยใหม่ของอินเดียมากขึ้น
เครื่องประดับแต่งงานของเจ้าสาวอินเดีย
ที่มาภาพ: https://www.shaadiaffair.com/bridal-jewellery-trends-2022/
จีน
ก่อนเกิดโรคโควิด-19 แพร่ระบาด จีนมีจำนวนคู่แต่งงานเฉลี่ยในแต่ละปีราว 10 ล้านคู่ แต่เมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้มีคู่แต่งงานลดเหลือ 8 ล้านคู่ในปี 2020 และคาดการณ์กันว่าในปี 2022 คู่แต่งงานในจีนจะกลับมาเพิ่มจำนวนใกล้เคียงกับปีก่อนเกิดโรคระบาด โดยตลาดงานแต่งงานเป็นตลาดหลักสำหรับการขายเครื่องประดับในประเทศจีน ซึ่งเครื่องประดับสำหรับงานแต่งงานคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของยอดขายเครื่องประดับทั้งหมดในจีน ทั้งนี้ เครื่องประดับเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีสำหรับงานแต่งงานแบบดั้งเดิม ดังนั้น เครื่องประดับแต่งงานจึงมีโอกาสเติบโตอย่างสดใสในตลาดนี้
เครื่องประดับสำหรับแต่งงานส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับทอง 24 กะรัต รองลงมาเป็นเครื่องประดับเพชร ซึ่งมักจะใช้เป็นสินสอดและสวมใส่ในพิธีแต่งงาน ทั้งนี้ วัฒนธรรมจีนดั้งเดิมไม่เกี่ยวข้องกับแหวนหมั้นแบบตะวันตก แต่คนรุ่นใหม่กลับนิยมมอบแหวนเพชรเป็นแหวนหมั้นเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ โดยผู้หญิงชาวจีนต้องการแหวนเพชรขนาด 1 กะรัตขึ้นไป สำหรับเครื่องประดับทองในงานแต่งงานที่ยังคงนิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ 1) กำไลมังกรและนกฟีนิกซ์ โดยมังกรเป็นสัญลักษณ์เพศชาย (หยาง) ในขณะที่นกฟีนิกซ์เป็นสัญลักษณ์เพศหญิง (หยิน) เมื่อรวมกันแล้ว ทั้งสองเป็นสัญลักษณ์ของความรักนิรันดร์และความสุขในชีวิตสมรส เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ ทรัพย์สินเพิ่มพูน และความอุดมสมบูรณ์ของลูกหลาน 2) เครื่องประดับลายดอกลิลลี่และดอกบัว ลวดลายดอกไม้เหล่านี้เป็นตัวแทนของเด็กๆ และการแต่งงานที่ยืนยาวและมีความสุข 3) เครื่องประดับรูปจี้หมูทอง ซึ่งหมูทองเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองและความโชคดี
จี้หมูทอง เครื่องประดับสำหรับใส่ในงานแต่งงานของจีนที่มาภาพ: www.scmp.com/magazines
สหราชอาณาจักร
โดยปกติแล้วในสหราชอาณาจักรมีงานแต่งงานเฉลี่ย 275,000 งานต่อปี มีค่าใช้จ่ายสำหรับแต่งงานประมาณ 14,700 ล้านปอนด์ต่อปี ซึ่งในปี 2020 งานแต่งงานเลื่อนออกไปมากกว่า 320,000 งาน คาดว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม 2021 – มิถุนายน 2022 อัตราการจัดงานแต่งงานจะเพิ่มขึ้นถึง 205% โดย UK Weddings Task Force คาดการณ์ว่าในปี 2021 สหราชอาณาจักรมีงานแต่งงานมากถึง 470,000 งาน และ 350,000 งานในปี 2022 ซึ่งมากกว่าปีก่อนเกิดโรคระบาดเกือบ 200,000 งาน โดยสิงหาคมเป็นเดือนที่นิยมจัดงานแต่งงงานมากที่สุดในสหราชอาณาจักร
ทั้งนี้ Fraser Hart ผู้ผลิตเครื่องประดับชั้นนำของสหราชอาณาจักร ให้ความเห็นว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแหวนหมั้น Cluster Engagement Rings เป็นตัวเลือกที่นิยมมากที่สุดสำหรับเจ้าสาว ส่วนในปี 2022 คาดการณ์ว่าแหวนหมั้นคลาสสิคแบบ Solitaire Engagement Rings ซึ่งเป็นแหวนประดับอัญมณีเม็ดเดี่ยว ทรงกลม ทรงรี หรือทรงสี่เหลี่ยม Princess Cut จะเป็นที่นิยมอย่างมาก รวมถึงแหวนสไตล์วินเทจ และแหวนหมั้นไพลินพร้อมเซ็ตต่างหูและจี้ไพลินก็เป็นกระแสที่นิยมมากในปีนี้ด้วยเช่นกัน
Oval Blue Sapphire Trio Ring แบรนด์ Shimell Madden
ที่มาภาพ: www.hitched.co.uk
จะเห็นได้ว่า ตลาดเครื่องประดับแต่งงานใน 4 ตลาดดังกล่าวข้างต้นกำลังเฟื่องฟู ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเพิ่มยอดขายในตลาดเหล่านี้ให้มากขึ้นในปีนี้ โดยศึกษาพฤติกรรมและรูปแบบเครื่องประดับแต่งงานของผู้บริโภคในแต่ละตลาด เพื่อที่จะได้ผลิตสินค้าได้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ให้ความสำคัญกับเทคนิคการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีควบคู่กับคุณภาพงานฝีมือ เพราะไม่ว่าจะเป็นตลาดไหนก็ตาม ผู้บริโภคล้วนต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป
ข้อมูลอ้างอิง
2) Truly Blog Beyond Ordinary. November 2021. UK Wedding Industry Statistics – Must-Know Numbers in the Post-Lockdown Wedding Mark. [Online]. Available at: https://trulyexperiences.com/blog/uk-wedding-industry-statistics/. (Retrieved March 15, 2022).
3) VOGUE. December 2021. The Engagement Ring Trends You’ll See Everywhere In 2022. [Online]. Available at: https://www.vogue.co.uk/fashion/article/engagement-ring-trends-2022. (Retrieved March 16, 2022).
4) Apna Outlook. 2021. 5 Latest Indian Wedding Jewellery Trends for 2022. [Online]. Available at: https://apnaoutlook.com/5-latest-indian-wedding-jewellery-trends/. (Retrieved March 15, 2022).
5) HTDC Research. 2021. China’s Jewellery Market. [Online]. Available at: https://research.hktdc.com/ en/article/MzEwMzg3MzA0. (Retrieved March 15, 2022).
6) Eastmeetdress.com. 2022. Most Popular Chinese Wedding Jewelry for Brides. [Online]. Available at: https://eastmeetsdress.com/blogs/blog/most-popular-chinese-wedding-jewelry-for-brides. (Retrieved March 18, 2022).