ความยั่งยืน: จุดเปลี่ยนอนาคตของอุตสาหกรรมเพชร
ปัจจุบันธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแง่ประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศไปจนถึงความหลากหลายทางชีวภาพ จากประเด็นชุมชน ความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมในโครงสร้างอำนาจของสังคม ไปจนถึงความโปร่งใสในแง่ธรรมาภิบาล หัวข้อด้าน ESG จึงกลายเป็นกระแสสำคัญที่ไม่อาจหยุดยั้งได้
แม้ว่าความกว้างขวางครอบคลุมของ ESG นำมาซึ่งประเด็นหลากหลายที่ธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญ แต่อุตสาหกรรมเพชรก็ได้ดำเนินความก้าวหน้าไปมากในหลายๆ ด้าน หากอุตสาหกรรมยังคงรักษาแนวโน้มเชิงบวกและสื่อสารประเด็นนี้อย่างมีประสิทธิภาพไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย การเน้นความยั่งยืนมากขึ้นนี้ก็จะช่วยให้บริษัท องค์กร และชุมชนมีความแข็งแกร่ง ยืดหยุ่นรับสถานการณ์ได้ดี ตลอดจนทำกำไรได้มากยิ่งขึ้น
เพชรธรรมชาติอาจถือเป็นแนวหน้าของกระบวนการด้าน ESG ในฐานะอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสมดุลระหว่างผู้คนและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยเบิกทางให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ประเด็นด้านความยั่งยืนไม่เพียงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ แต่ยังแสดงถึงโอกาสที่อุตสาหกรรมเพชรจะเป็นผู้นำด้านแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมให้แก่แวดวงทรัพยากรธรรมชาติและสินค้าหรูหรา
การสำรวจเจาะลึกของ De Beers เน้นปัจจัยด้านความยั่งยืนที่ส่งผลต่อทัศนคติที่ผู้บริโภคมีต่อเพชร โดยแสดงให้เห็นว่าประเด็นด้านความยั่งยืนได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการซื้อเพชรและสิ่งที่ผู้ซื้อคาดหวังจากการซื้อเพชรไปอย่างไรบ้าง รวมทั้งแสดงถึงเหตุผลที่บริษัทต่างๆ ต้องเปิดรับแนวคิดด้านความยั่งยืน ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้องควรทำเท่านั้น แต่เพราะประเด็นนี้มีความสำคัญเชิงธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ในตลาดผู้บริโภคที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
แบรนด์ De Beers
ESG มีความสำคัญเชิงธุรกิจต่ออุตสาหกรรมเพชร
ความยั่งยืนเป็นกระแสที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ ด้วยแรงผลักดันจากนักวิทยาศาสตร์ นักลงทุน รัฐบาล องค์การนอกภาครัฐ (NGO) และผู้บริโภค การคำนึงถึงประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องทางจริยธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่ดีด้วย ผลวิจัยระบุว่าการใส่ใจต่อประเด็นด้าน ESG ไม่ได้ส่งผลเสียต่อรายได้แต่กลับเป็นตรงกันข้าม กิจการทั้งหมดในภาคอุตสาหกรรมเพชรตั้งแต่การขุดเพชรไปจนถึงการค้าปลีกควรรับเอาแนวทางด้าน ESG มาเป็นแก่นสำคัญในกลยุทธ์ของตน ผ่านการสนับสนุนจากหลักฐานที่ช่วยรับรองความยั่งยืนของกิจการให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้บริโภค
ทัศนคติของผู้บริโภคต่อความยั่งยืนขึ้นถึงจุดสูงสุด
ผู้บริโภคมองหาแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นอันดับแรกและให้รางวัลตอบแทนแก่แบรนด์ที่มีค่านิยมสอดคล้องกับผู้บริโภค ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคร้อยละ 60 และผู้มีอิทธิพลทางความคิดกว่าร้อยละ 80 ได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ดำเนินการผลิตโดยรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ความต้องการเครื่องประดับที่ยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจากแนวโน้มการค้นหาทาง Google พุ่งสูงขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มรูปแบบการเติบโตของกระแสนี้ในหมู่ผู้บริโภคโดยรวม และปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามการจัดกิจกรรม/การสื่อสารในแวดวงอุตสาหกรรมต่อสาธารณชนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากความยั่งยืนได้กลายเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการตัดสินใจของผู้บริโภค แบรนด์และธุรกิจที่ละเลยประเด็นนี้จึงต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นทั้งในแง่ชื่อเสียงและธุรกิจ
ธุรกิจเพชรธรรมชาติบุกเบิกด้าน ESG
อุตสาหกรรมเพชรธรรมชาติสานต่อผลงานเดิมจากงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการสร้างประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจเพื่อให้ความยั่งยืนเป็นแก่นสำคัญของการตัดสินใจในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความหลากหลาย การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น หรือการบรรลุเป้าหมายด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน อุตสาหกรรมเพชรได้ช่วยพัฒนาชีวิตของผู้คน ชุมชน และประเทศทั้งประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งงานหายากและผู้คนต้องการรายได้ เมื่อนำมารวมกับความมุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่มูลค่าในช่วงทศวรรษข้างหน้าและหลังจากนั้น จึงทำให้อุตสาหกรรมนี้พร้อมที่จะตอบสนองและทำให้ได้เหนือความคาดหมายของผู้บริโภคและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นด้านความยั่งยืนและ ESG
คนคำนึงถึงปัจจัยด้านความยั่งยืนเป็นลำดับแรกๆ ในการซื้อเพชรธรรมชาติ
ในบรรดาสินค้าที่ผู้บริโภคมักตัดสินใจซื้อโดยคำนึงถึงความยั่งยืน เครื่องประดับอยู่ที่อันดับสามตามหลังอาหารและเสื้อผ้า สำหรับเครื่องประดับเพชรนั้น เมื่อเลือกซื้อเพชรธรรมชาติ ผู้บริโภคทั่วโลกราวหนึ่งในสามจะให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากที่สุด (เหนือกว่าราคา การออกแบบ และขนาด) หากให้เลือกระหว่างเพชรธรรมชาติที่ยั่งยืนจากแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับการผลิตให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้าน ESG กับเพชรจากแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักแต่ไม่มีการรับประกันด้านความยั่งยืน ผู้บริโภคเกือบร้อยละ 60 จะเลือกตัวเลือกที่เน้นความยั่งยืนแม้ทราบดีว่าน่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม โดยผู้ที่เลือกตัวเลือกแบบยั่งยืนร้อยละ 85 พร้อมจ่ายเงินเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 15 ยิ่งถ้าโอกาสที่ซื้อนั้นมีความหมายเชิงสัญลักษณ์และเชิงอารมณ์ และยิ่งเพชรเม็ดนั้นมีน้ำหนักกะรัตมาก ผู้บริโภคก็จะยิ่งคำนึงถึงคุณค่าด้าน ESG ของแบรนด์มากขึ้น การปกป้องสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติต่อคนงานอย่างเป็นธรรม และการจัดหาที่ไม่สนับสนุนความขัดแย้ง ถือเป็นปัจจัยด้าน ESG สามประการแรกที่ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์เพชรจะคำนึงถึง
หัวข้อ ESG ห้าข้อในปัจจัยเก้าอันดับแรกที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อเพชรธรรมชาติ
ที่มา: การศึกษา Sustainability Study ปี 2021 ที่มอบหมายโดย De Beers
ผู้บริโภคพร้อมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อเครื่องประดับเพชรธรรมชาติที่ผ่านการรับรองด้านความยั่งยืน
ในการซื้อเพชรธรรมชาติ ผู้บริโภคจะเล็งเห็นคุณค่าที่สูงกว่าหากแบรนด์ส่งเสริมชุมชนท้องถิ่น ติดตามข้อมูลแหล่งที่มาของเพชร และลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ผู้บริโภคร้อยละ 56 ยินดีจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 10 ถึง 20 ให้แก่แบรนด์เพชรธรรมชาติที่แสดงให้เห็นว่าดำเนินงานโดยมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ผู้บริโภคเกือบร้อยละ 17 ยินดีจ่ายเงินเพิ่มถึงร้อยละ 25 ขึ้นไปเพื่อซื้อเพชรธรรมชาติที่เน้นความยั่งยืน
ความรับผิดชอบทางสังคมกลายเป็นปัจจัยตัดสินในกลุ่มผลิตภัณฑ์หรูหรา
ที่มา: Agility TrendLens™ 2021
ผู้บริโภครุ่นใหม่เป็นแนวหน้าที่ช่วยนำกระแส
ผู้บริโภครุ่นใหม่ช่วยขับเคลื่อนความต้องการด้านความโปร่งใสและความถูกต้อง คนรุ่นมิลเลนเนียลร้อยละ 68 และคนรุ่นเจน Z ร้อยละ 65 เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีหลักฐานรับรองด้าน ESG ขณะที่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์จะเลือกซื้อในลักษณะนี้คิดเป็นร้อยละ 42 การคำนึงถึงความยั่งยืนมีสัดส่วนสูงกว่าในกลุ่มผู้บริโภคที่มีการศึกษาสูง (ร้อยละ 67) และกลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะดี (ร้อยละ 70) ในการซื้อเพชร หากให้เลือกระหว่างเพชรธรรมชาติที่มีความยั่งยืนกับเพชรที่ไม่มีการรับรองด้านความยั่งยืน คนรุ่นมิลเลนเนียลกลุ่มที่มีอายุสูงกว่าจะเลือกตัวเลือกที่มีความยั่งยืนคิดเป็นร้อยละ 59 แนวโน้มนี้น่าจะได้รับการส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป โดยคนรุ่นเจน Z ร้อยละ 21 ก็เริ่มพิจารณาปัจจัยด้านความยั่งยืนในการเลือกซื้อเครื่องประดับแล้วเช่นกัน
การรับรองความยั่งยืนต้องได้รับการสื่อสารไปยังผู้บริโภคผ่านทุกช่องทาง
คุณค่าที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญจะต้องสะท้อนอยู่ในปฏิสัมพันธ์จากแบรนด์ในทุกๆ ส่วนและการดำเนินการเชิงบวกของภาคอุตสาหกรรมจะต้องได้รับการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ แบรนด์ที่คำนึงถึงประเด็นด้าน ESG ในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่มูลค่าและนำไปสื่อสารจะได้รับความนิยมและความภักดีจากผู้บริโภค ช่องทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย แอป และเว็บไซต์ ล้วนเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่ผู้บริโภคใช้มองหาแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบทางสังคม และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการสร้างรสนิยมของผู้บริโภค ความยั่งยืนควรผสานอยู่ในบรรจุภัณฑ์ของเครื่องประดับเพชรด้วยเพื่อสะท้อนให้เห็นคุณค่าโดยรวมของแบรนด์อย่างเป็นรูปธรรม
โครงการติดตามแหล่งที่มาสำคัญอย่างยิ่งต่อการให้ความมั่นใจและสื่อสารให้ผู้บริโภคเห็นผลลัพธ์เชิงบวกของเพชรธรรมชาติ
อุตสาหกรรมเพชรผ่านเส้นทางของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในแง่การจัดหาที่ถูกต้องและมีความรับผิดชอบทั่วทั้งห่วงโซ่มูลค่ามาตลอดสองทศวรรษ เทคโนโลยีใหม่ช่วยขับเคลื่อนโครงการด้านแหล่งที่มาและการติดตามข้อมูลสำหรับผู้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่มูลค่า ส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้เป็นแนวหน้าด้านนวัตกรรม ESG เพื่อการจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบ ที่สำคัญนวัตกรรมเหล่านี้ยังช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถสื่อสารให้ผู้บริโภคได้รับทราบแหล่งที่มาของเพชร ตลอดจนจุดประสงค์ทางสังคมและผลลัพธ์เชิงบวกจากภาคอุตสาหกรรมนี้ด้วย
การรวม ESG เอาไว้ในกลยุทธ์ทางธุรกิจไม่ใช่เรื่องลำบากเสมอไป
การดำเนินกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนจะช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสได้รับความภักดีและความไว้วางใจจากผู้บริโภคในระยะยาว แม้ว่าในช่วงแรกอาจดูลำบากและต้องใช้ต้นทุนสูงอยู่บ้างเป็นระยะสั้นๆ แต่กิจการก็จำเป็นต้องลงมือทำเพื่อให้บรรลุผล หากต้องการได้รับประโยชน์และวัดผลจากการดำเนินงานด้าน ESG ผู้ประกอบการควรปฏิบัติตามหลักการเบื้องต้น กล่าวคือ คำนึงถึงส่วนที่ต้องให้ความสำคัญก่อน ดำเนินการให้สอดคล้องกับค่านิยมของผู้บริโภคและขีดความสามารถหลักของธุรกิจ กำหนดเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง เลือกพันธมิตรที่เหมาะสมเพื่อร่วมงานด้วย และรายงานความก้าวหน้าอย่างโปร่งใส
การดำเนินทิศทางเดียวกันทั้งอุตสาหกรรมจะให้ผลลัพธ์สูงสุด
การดำเนินการอย่างเด็ดขาดร่วมกันจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมเพื่อสร้างมาตรฐานและวัดความก้าวหน้าจะช่วยให้เกิดผลลัพธ์สูงสุดและช่วยให้แน่ใจว่าเกณฑ์ด้าน ESG เป็นแนวทางปฏิบัติมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมเพชร การดำเนินการของกิจการสำคัญต่อผู้บริโภคมากกว่าคำพูด และประเด็นความยั่งยืนต้องได้รับการสื่อสารไปยังผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ ความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของภาคอุตสาหกรรมและความสามารถของบริษัทต่างๆ ในการนำประเด็นด้าน ESG มาผสานรวมกับกลยุทธ์หลักของธุรกิจ มีองค์กรและโครงการต่างๆ ที่คอยส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อวัตถุประสงค์ด้านนี้ รวมถึง Responsible Jewellery Council (RJC)
แบรนด์ De Beers
ทุกฝ่ายต้องร่วมลงมือ
อุตสาหกรรมเพชรมีโอกาสมากมายที่จะสื่อสารให้เห็นว่าได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้บริโภคในปัจจุบันว่าด้วยเรื่องจริยธรรมและความยั่งยืน ตลอดจนสานต่อในแง่การสร้างประโยชน์ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่มูลค่า ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการผสานความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ความก้าวหน้าได้เริ่มปรากฏให้เห็นแล้วและกระแสก็กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า อุตสาหกรรมนี้ต้องกำหนดให้ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญในการนำเสนอคุณค่าเพื่อสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้แก่ผู้คนและโลกใบนี้อย่างแท้จริง ตลอดจนเสริมสร้างความไว้วางใจของผู้บริโภคและความต้องการผลิตภัณฑ์เพชร
ข้อมูลอ้างอิง
2) Professional Jeweller. 2021. Sustainability now just as important to consumers as price, says De Beers report. [Online]. Available at https://www.professionaljeweller.com/sustainability-now-just-as-important-to-consumers-as-price-says-de-beers-report/.