ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

กระแส ESG และความยั่งยืนมาแรงในธุรกิจเครื่องประดับ

Jul 18, 2023
1541 views
3 shares

        กระแสการบริโภคอย่างมีจิตสำนึกที่เติบโตขึ้นทำให้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) กลายเป็นที่สนใจ แม้ว่าโครงการด้าน ESG ยังคงเผชิญความท้าทายในแง่ประสิทธิภาพและการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างต่อเนื่อง แต่โครงการเหล่านี้ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจากความมุ่งมั่นขององค์กรและบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมนี้

        ESG และความยั่งยืนกลายเป็นประเด็นมาแรงในแวดวงอัญมณีและเครื่องประดับ จึงนำไปสู่โครงการ งานสัมมนา และบทความต่างๆ มากมายในหัวข้อนี้ ธุรกิจเครื่องประดับได้รับความกดดันท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงในแง่การดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องเท่านั้น แต่จะต้องแสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการด้านความยั่งยืนด้วย

        สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เป็นกรอบกลยุทธ์ที่ใช้ประเมินว่ากิจการต่างๆ ได้นำหลักการเหล่านี้ไปใช้ในการดำเนินงานและรูปแบบธุรกิจอย่างไร โดยเป็นส่วนหนึ่งในประเด็นความยั่งยืนซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่ครอบคลุมหัวข้ออื่นๆ อีกมาก



เครื่องประดับรีไซเคิลจากนักออกแบบ Dana_Bronfman

        “หลายคนประหลาดใจที่ได้รู้ว่าความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงความเป็นธรรมของเศรษฐกิจโลก สิทธิมนุษยชน แรงงานสัมพันธ์ และความรับผิดชอบที่ธุรกิจมีต่อสังคมอีกด้วย” Barbara Wheat กรรมการบริหารของ Ethical Metalsmiths (EM) อธิบาย ความยั่งยืนครอบคลุมตั้งแต่เรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ของบริษัท พันธกิจด้านความยั่งยืน ความโปร่งใส และวัฒนธรรมในองค์กรด้านการเปิดรับความแตกต่างและความหลากหลาย เป็นเรื่องของความคิดความเชื่อโดยรวมซึ่งทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ


ผู้บริโภคที่มีจิตสำนึกทางสังคม

        ทุกวันนี้ผู้บริโภคคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ตามมาจากการซื้อสินค้าของตนยิ่งกว่าเดิมมาก โดยมองว่าแบรนด์ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการเสริมสร้างความยั่งยืนของโลก ผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องประดับและนาฬิกาคุณภาพสูงหันมานิยมแบรนด์ที่ดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบ ให้คุณค่าแก่ความหลากหลาย อีกทั้งมีภาพลักษณ์ที่ดึงดูดใจและน่าเชื่อถือทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ Feriel Zerouki รองประธานอาวุโสฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ของ De Beers Group มองว่า กระแสระดับโลกนี้มีแต่จะเติบโตขึ้น เนื่องจากนำโดยคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจอย่างจริงจังในประเด็นทางสังคมและมักจะนิยมผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากแนวทางที่ยั่งยืน

        Iris van der Veken กรรมการบริหารของ Watch and Jewellery Initiative 2030 เสริมว่า “เราอยู่ในยุคของความโปร่งใส ผู้บริโภคกลุ่มใหม่และการพัฒนากฎเกณฑ์ด้านการรายงานความโปร่งใสจะช่วยเร่งกระแสนี้ ผู้บริโภครุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z มักมองหาแบรนด์ที่ตรงกับตัวเอง แบรนด์ที่ชอบ และแบรนด์ที่อยากสวมใส่ ผู้บริโภครุ่นใหม่กลุ่มนี้มองหาจุดประสงค์และความเป็นของแท้ ในทางปฏิบัติเท่ากับว่าบริษัทต่างๆ ต้องดำเนินการและแสดงความก้าวหน้าที่วัดผลได้ตามระยะเวลาในทุกแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ดังนั้น ข้อมูลที่เข้าถึงได้ เปรียบเทียบได้ และโปร่งใสจึงมีความสำคัญ”

        Zerouki รายงานว่าในการวิจัยของ De Beers Group เมื่อไม่นานมานี้ ผู้หญิงร้อยละ 36 และ Gen Z ร้อยละ 39 เจาะจงหาข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานรับรองความถูกต้องของแบรนด์เมื่อจะทำการซื้อเครื่องประดับเพชร “นอกจากนี้ ผู้หญิงร้อยละ 40 กล่าวว่าการได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลบวกจากอุตสาหกรรมเพชรต่อชุมชนท้องถิ่นจะทำให้ตนเองมีแนวโน้มซื้อเพชรมากขึ้น ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวมากถึงร้อยละ 50 ในกลุ่มผู้บริโภค Gen Z แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่แท้จริงสำหรับแบรนด์เพชรที่จะแสดงความแตกต่างในแง่คุณค่าด้วยการให้ข้อมูลแก่ลูกค้าเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเพชรและผลลัพธ์เชิงบวกจากสินค้าดังกล่าว” เธอกล่าว


การดำเนินการในภาคอุตสาหกรรม

        บริษัทและสมาคมด้านสินค้าหรูหรากำลังทำตัวเป็นแบบอย่างเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมเป้าหมายด้าน ESG สู่แวดวงเครื่องประดับในวงกว้าง

        Watch and Jewellery Initiative 2030 ในเจนีวา ก่อตั้งโดย Kering และ Cartier เพื่อดำเนินการตามหลักการสิบข้อและเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืน 17 ข้อของ UN Global Compact โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรวมแบรนด์นาฬิกาและเครื่องประดับทั่วโลกมาร่วมเดินทางสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับต่ำ และช่วยให้แน่ใจว่าอุตสาหกรรมนี้ได้สร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้แก่โลกและผู้คนตลอดห่วงโซ่อุปทาน โครงการนี้เปิดตัวในเดือนตุลาคม 2021 โดยมีสมาชิกเป็นบรรดาแบรนด์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง Gucci, Pomellato, Qeelin, Cartier, Chanel Watches & Jewellery, Boucheron, Swarovski, Rosy Blue และ Dimexon เป็นต้น โครงการนี้เน้นประเด็นสำคัญสามข้อคือ การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การอนุรักษ์ทรัพยากร และการยอมรับความแตกต่าง

        ปัจจุบันการวัดผลการดำเนินงานที่โปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนถือเป็นส่วนสำคัญของแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและจำเป็นสำหรับการรักษาความเชื่อมั่นต่อกิจการ

        Watch and Jewellery Initiative ร่วมงานกับ ESG Book ผู้นำระดับโลกด้านข้อมูล การวิจัย และเทคโนโลยีความยั่งยืน เพื่อเปิดตัวสายงานเฉพาะด้านที่ประกอบด้วยแบรนด์ ผู้ผลิต และผู้จัดหารายใหญ่เพื่อพัฒนาวิธีการรายงานบนพื้นฐานแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในระดับสากล “ขั้นต่อไปคือการดำเนินการนำร่องตามกรอบที่กำหนด และเราจะสำรวจวิธีการขยายโซลูชันนี้โดยขึ้นอยู่กับผลการศึกษาที่ได้รับ เรากำลังทำโครงการพิเศษด้านการให้ความรู้สำหรับ SME ร่วมกับ Global Compact ของสหประชาชาติด้วย เนื่องจากเราเชื่อว่าการนำทุกคนมาร่วมเดินทางสู่ความยั่งยืนถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง” Van der Veken เผย

        De Beers Group ลงทุนเพื่ออนาคตด้วยการดูแลให้เพชรทุกเม็ดที่ขุดมาได้สร้างผลลัพธ์เชิงบวกแก่ผู้คนและชุมชนท้องถิ่นในบริเวณที่มีการขุดเพชรเม็ดนั้นขึ้นมา

        “เรามีหน้าที่สนับสนุนประเทศและชุมชนในบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งเหมือง ไม่เพียงในแง่การจ้างงาน การจัดซื้อในท้องถิ่น และการจ่ายภาษีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจระดับกว้างที่ช่วยสนับสนุนชุมชนและเศรษฐกิจให้ยั่งยืนและเจริญรุ่งเรือง เราเข้าใจดีว่าในฐานะผู้นำอุตสาหกรรม เรามีโอกาสเฉพาะตัวในการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติด้าน ESG ภายในอุตสาหกรรมนี้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น” Zerouki กล่าว

        กลยุทธ์ ESG ของ De Beers มีชื่อว่า ‘Building Forever’ และประกอบด้วยเสาหลักสี่ประการ ได้แก่ การเป็นผู้นำด้านแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง การปกป้องธรรมชาติ การสนับสนุนชุมชนให้เจริญรุ่งเรือง และการเร่งส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมกัน


โครงการ GemFair ของ De Beers Group

        เนื่องจากผู้บริโภคต้องการทราบแหล่งที่มาของเพชรมากยิ่งขึ้น De Beers จึงเร่งโครงการด้านความสามารถในการติดตามแหล่งที่มาด้วยบล็อกเชน TracrTM เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและมุ่งสู่เป้าหมายการติดตามแหล่งที่มาโดยสมบูรณ์ภายในปี 2030 นอกจากนี้ ยังตั้งปณิธานที่จะช่วยสนับสนุนการปรับปรุงการทำเหมืองเพชรแบบดั้งเดิมให้เป็นระบบมากขึ้นด้วย Zerouki กล่าวว่า “แม้ว่าเราไม่ได้ดำเนินงานในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวโดยตรง แต่มันก็เป็นแหล่งจัดหาเพชรสู่ตลาดโลกที่มีความสำคัญและยิ่งสำคัญขึ้นไปอีกต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนนับล้านๆ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาความยากจนรุนแรงที่สุดในโลก เราต้องการช่วยส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมนี้ให้เป็นแหล่งจัดหาเพชรที่ได้รับความเชื่อมั่น และจะทำโดยการขยายโครงการโดยเฉพาะด้านการทำเหมืองเพชรแบบดั้งเดิมและขนาดเล็กของ GemFair ซึ่งปัจจุบันดำเนินงานอยู่ในเซียร์รา ลีออน” GemFair มุ่งที่จะช่วยปรับภาค ASM ให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น

        EM ก่อตั้งขึ้นในปี 2004 โดยเป็นชุมชนของผู้ซื้อ ผู้จัดหา และนักออกแบบเครื่องประดับทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าซึ่งส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกแง่มุมของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ EM มีภารกิจที่จะผลักดันการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบในธุรกิจเครื่องประดับผ่านการให้ความรู้ การติดต่อเชื่อมโยง และการลงมือปฏิบัติ

        “สมาชิกส่วนใหญ่ของ EM เป็นธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ช่างทำเครื่องประดับและช่างฝีมือ ที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันกับองค์กรว่าต้องการสร้างแวดวงเครื่องประดับที่ผลิตสินค้าอันสวยงามโดยไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม” Wheat กล่าว พร้อมเสริมว่าธุรกิจกลุ่มนี้อาจไม่ได้พบความท้าทายด้าน ESG เหมือนกิจการขนาดใหญ่ สมาชิก EM จึงอาจมีข้อได้เปรียบเนื่องจากเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กสามารถลงมือและติดตามการดำเนินการอย่างยั่งยืนได้ง่ายกว่า 

        เมื่อไม่นานมานี้ EM ได้เปิดตัวโครงการรีไซเคิลเครื่องประดับและการทำเหมืองในชุมชนด้วยแนวทางใหม่ที่มีชื่อว่า Radical Jewelry Makeover โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างการทำเหมือง งานช่างโลหะ กิจกรรมทางสังคม ความร่วมมือกัน และศิลปะ

        Christina T. Miller Consulting และทีมงานที่ปรึกษามืออาชีพเป็นผู้บุกเบิกด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2004 “เรามุ่งเน้นกิจกรรมที่แตกต่างซึ่งแบรนด์สามารถทำได้เพื่อปรับปรุงผลกระทบจากกิจการของตน เรามุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ประหยัดต้นทุนจากประเด็นเหล่านี้” Christina Miller ที่ปรึกษาผู้ได้รับรางวัลด้านเครื่องประดับเพื่อความยั่งยืนกล่าว เธอทำงานร่วมกับลูกค้าเพื่อรับมือกับผลกระทบจากกิจการของลูกค้าต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงพิจารณาว่าควรเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินธุรกิจในแง่ธรรมาภิบาลอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านต่างๆ ดังกล่าว

        “เราไม่ได้แค่ช่วยให้ลูกค้าดำเนินการได้ตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมและผ่านการรับรอง แต่ยังตรวจสอบให้แน่ใจว่ากรอบพื้นฐานด้านจริยธรรมที่ลูกค้าใช้กับกิจการของตนนั้นได้ปรากฏอยู่ในการจัดหาและการตัดสินใจอื่นๆ ในทางธุรกิจด้วย” เธอเสริม “เรายอมรับความเป็นจริงที่ว่าต้นทุนในการดำเนินการตามกรอบจริยธรรมและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผลกำไรของผู้ถือหุ้นนั้นก่อให้เกิดความตึงเครียดขึ้นได้ แต่เราเลือกให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติและกิจการที่มีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง”


ตัวเลือกแบบ Fairmined

        การทำเหมืองทองได้รับการจับจ้องมากยิ่งขึ้นว่าอาจพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมลพิษจากตะกั่ว นอกจากนี้ เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผู้ผลิตเครื่องประดับก็ถูกกดดันให้หลีกเลี่ยงการใช้ทองและเพชรจากรัสเซีย

        มีการอ้างถึงข้อเท็จจริงที่อาจขัดแย้งกับผลลัพธ์เชิงบวกจากทองรีไซเคิล กล่าวคือ ทองที่มาจากการทำเหมืองแบบผิดกฎหมายนั้นได้ถูกนำไปฟอกให้กลายเป็นทองรีไซเคิลแล้วส่งกลับเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น จึงมีการหันไปหาแนวทางทองแบบ Fairmined ซึ่งเป็นป้ายกำกับเพื่อรับรองทองจากองค์กรด้านการทำเหมืองแบบดั้งเดิมและขนาดเล็กที่ดำเนินการอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ Wheat ให้ความเห็นว่า “ผู้ผลิตเครื่องประดับบางรายที่เป็นสมาชิก EM ให้ทางเลือกแก่ลูกค้าในการตัดสินใจ ราคาของทองแบบ Fairmined อาจทำให้ลูกค้าลังเล แต่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ช่วยส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคได้เช่นกัน”


เครื่องประดับรีไซเคิลจากนักออกแบบ Dana_Bronfman

        ผู้ผลิตเครื่องประดับและนักออกแบบอิสระเริ่มเล็งเห็นประโยชน์ในการร่วมมือกับกลุ่มผู้ทำเหมืองที่มุ่งเน้นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญมากขึ้นเกี่ยวกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบและต้องการความโปร่งใสอย่างเต็มที่ Polly Wales, Pippa Small, Ming Lampson, Dana Bronfman และ Saskia Shutt อยู่ในกลุ่มแบรนด์ที่เลือกใช้โลหะซึ่งผ่านการรับรองและสกัดโดยผู้ทำเหมืองในรูปแบบกิจการขนาดเล็ก

        Miller ให้ความเห็นว่า “โชคดีที่เราเริ่มเห็นความก้าวหน้าด้านการทำเหมืองทอง ทั้งนี้ The Initiative for Responsible Mining Assurance (IRMA) สำหรับกิจการระดับอุตสาหกรรม และ The Fairmined Standard สำหรับเหมืองแบบดั้งเดิมและขนาดเล็ก ได้ช่วยให้ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเงื่อนไขเบื้องต้นและจุดที่ควรปรับปรุง ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ผลิตเครื่องประดับซื้อวัตถุดิบจากกิจการเหมืองแบบดั้งเดิมและขนาดเล็กที่ผ่านการรับรองอย่างเช่น Fairmined และ Fairtrade กิจการเครื่องประดับจะสามารถสนับสนุนผู้ทำเหมืองและยืนยันได้ว่าทองที่ตนใช้นั้นผลิตขึ้นมาอย่างมีความรับผิดชอบ อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าผลกระทบในเชิงลบจะเป็นศูนย์”


เครื่องประดับรีไซเคิลจากนักออกแบบ Saskia Shutt


ความท้าทายในวงกว้าง

        เรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกได้รับการกล่าวถึงมากขึ้นและผู้บริโภคก็ต้องการให้การซื้อสินค้าสอดคล้องกับค่านิยมที่ตนยึดมั่น แบรนด์จึงตอบสนองด้วยการกำหนดภารกิจด้านความยั่งยืน ตั้งเป้าหมายด้านสภาพอากาศ และให้คำมั่นว่าจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ดี เมื่อผู้บริโภคสนใจในประเด็นนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็มีการกระทำที่เรียกว่า Greenwashing เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน Miller ได้ให้นิยามของคำนี้ไว้ว่าหมายถึงการโฆษณาหรือทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์มีความยั่งยืนมากกว่าที่เป็นจริง หรือการกล่าวอ้างเชิงสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีหลักฐานมายืนยัน

        “ยังไม่มีการลงความเห็นอย่างเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับนิยามของศัพท์ทางการตลาดที่เรามักจะพบเห็นได้ทั่วไป อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการวัดและเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทองรีไซเคิลเทียบกับทองที่ขุดขึ้นมาใหม่ หรือผลกระทบจากคาร์บอนของเพชรสังเคราะห์ที่ผลิตในห้องปฏิบัติการเทียบกับเพชรธรรมชาติที่ขุดขึ้นมาใหม่ มีคำกล่าวอ้างด้านสิ่งแวดล้อมมากมายที่ยากจะหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้” เธออธิบาย

        วิธีที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับ Greenwashing คือการให้สาธารณชนตั้งคำถามที่ถูกต้อง “หากบริษัททำการกล่าวอ้างต่อสาธารณะ ก็ควรจะสามารถให้หลักฐานยืนยันและตอบคำถามที่อาจเกิดขึ้นจากคำกล่าวอ้างนั้น หากคำตอบที่ได้รับยังคงคลุมเครือ ใช้แต่ศัพท์เฉพาะทางการตลาด หรือไม่มีคำตอบใดๆ เลย ก็ควรจะสงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็น Greenwashing” Miller กล่าว

        การรับมือกับ Greenwashing ก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ EM ต้องรับมืออยู่เป็นประจำ “สมาชิกแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านฟอรัม ที่ช่วยให้สมาชิกเข้าใจการกระทำแบบ Greenwashing และหลีกเลี่ยงการกล่าวอ้างหรือคำประกาศเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด พิสูจน์ไม่ได้ หรือเป็นเท็จ ดังที่พบในตลาดทุกวันนี้” Wheat กล่าว

        Van der Veken ระบุว่าความเชื่อมั่นนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกระทำที่มีความรับผิดชอบ บริษัทต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลที่โปร่งใสและละเอียดแม่นยำตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้เข้าใจการดำเนินงานของกิจการได้ดียิ่งขึ้น “จุดมุ่งหมายของเราคือการสร้างกรอบด้าน ESG ที่น่าเชื่อถือบนพื้นฐานแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในระดับสากล การทำงานขั้นต้นของเราได้เริ่มไปแล้วและเราจะคอยรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการดังกล่าว การได้รับข้อมูลด้าน ESG ที่แม่นยำและมีคุณภาพนั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ กระบวนการนี้ต้องอาศัยเวลาและการให้ความรู้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน” เธอเผย

        Yianni Melas นักอัญมณีศาสตร์และผู้สำรวจอัญมณีมากประสบการณ์ เชื่อมั่นในการคืนประโยชน์สู่ชุมชนผ่านการให้ความรู้ เป้าหมายของเขาคือการทำงานกับกลุ่มที่มุ่งเน้นการให้ความรู้แทนที่จะเป็นการรับรองความถูกต้อง

        เขากล่าวว่า “การตรวจสอบแหล่งที่มาไม่ได้มอบประโยชน์คืนสู่ต้นทาง แต่การให้ความรู้นั้นทำได้ ใครก็ตามที่ตอบแทนหรือเข้าร่วมในโครงการที่มอบความรู้ด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับถือเป็นการช่วยเหลือด้วยการ ‘คืนกำไร’ กลับไปอย่างจริงใจ อุตสาหกรรมของเราควรมุ่งเน้นการให้ความรู้เพื่อให้ระบบนิเวศน์ของทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับเครื่องประดับดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนในเหมืองต่างๆ ซึ่งก็รวมถึงการให้ความรู้ด้านการเจียระไนอัญมณี การออกแบบ การหล่อและการผลิต และที่สำคัญคือการฝังอัญมณี”

        ความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างก็กลายเป็นประเด็นด้าน ESG ที่สำคัญ เมื่อกิจการพยายามสะท้อนแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าและชุมชน มีการก่อตั้งสมาคม แผนการ แพลตฟอร์ม และโครงการใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองประเด็นเรื่องการทำงานของผู้หญิงและสมาชิกกลุ่ม BIPOC (คนผิวดำ คนพื้นเมือง และคนผิวสี) ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ

        กลุ่มเหล่านี้มีตั้งแต่องค์กรกำกับดูแลอย่าง CIBJO (The World Jewellery Confederation), Women’s Jewelry Association (WJA) และ Diversity Action Council (DAC) จนถึงโครงการอิสระโดยนักออกแบบ เช่น Bijules Incubator, Black in Jewelry Coalition และ Tiffany Atrium ไปจนถึงโครงการโดยผู้ค้าปลีก เช่น Greenwich St. Jewelers และ MatchesFashion ซึ่งกรุยทางด้วยการทำงานร่วมกับนักออกแบบที่มีพื้นเพแตกต่างหลากหลายและดำเนินโครงการที่มุ่งเน้นการให้คำปรึกษาและให้ความรู้ แพลตฟอร์มเหล่านี้จำนวนมากนำเสนอความเห็นที่โปร่งใสและบทสนทนาที่เปิดกว้างเกี่ยวกับความท้าทายในการดำเนินงานส่วนต่างๆ ภายในอุตสาหกรรมนี้


ข้อมูลอ้างอิง


JNA. 2023. ESG in the jewellery trade. [Online]. Available at https://news.jewellerynet.com/tk/jnanews/
features/25065/030823.

เอกสารแนบ


ความคิดเห็น


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

กระแส ESG และความยั่งยืนมาแรงในธุรกิจเครื่องประดับ

Jul 18, 2023
1541 views
3 shares

        กระแสการบริโภคอย่างมีจิตสำนึกที่เติบโตขึ้นทำให้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) กลายเป็นที่สนใจ แม้ว่าโครงการด้าน ESG ยังคงเผชิญความท้าทายในแง่ประสิทธิภาพและการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างต่อเนื่อง แต่โครงการเหล่านี้ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจากความมุ่งมั่นขององค์กรและบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมนี้

        ESG และความยั่งยืนกลายเป็นประเด็นมาแรงในแวดวงอัญมณีและเครื่องประดับ จึงนำไปสู่โครงการ งานสัมมนา และบทความต่างๆ มากมายในหัวข้อนี้ ธุรกิจเครื่องประดับได้รับความกดดันท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงในแง่การดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องเท่านั้น แต่จะต้องแสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการด้านความยั่งยืนด้วย

        สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เป็นกรอบกลยุทธ์ที่ใช้ประเมินว่ากิจการต่างๆ ได้นำหลักการเหล่านี้ไปใช้ในการดำเนินงานและรูปแบบธุรกิจอย่างไร โดยเป็นส่วนหนึ่งในประเด็นความยั่งยืนซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่ครอบคลุมหัวข้ออื่นๆ อีกมาก



เครื่องประดับรีไซเคิลจากนักออกแบบ Dana_Bronfman

        “หลายคนประหลาดใจที่ได้รู้ว่าความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงความเป็นธรรมของเศรษฐกิจโลก สิทธิมนุษยชน แรงงานสัมพันธ์ และความรับผิดชอบที่ธุรกิจมีต่อสังคมอีกด้วย” Barbara Wheat กรรมการบริหารของ Ethical Metalsmiths (EM) อธิบาย ความยั่งยืนครอบคลุมตั้งแต่เรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ของบริษัท พันธกิจด้านความยั่งยืน ความโปร่งใส และวัฒนธรรมในองค์กรด้านการเปิดรับความแตกต่างและความหลากหลาย เป็นเรื่องของความคิดความเชื่อโดยรวมซึ่งทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ


ผู้บริโภคที่มีจิตสำนึกทางสังคม

        ทุกวันนี้ผู้บริโภคคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ตามมาจากการซื้อสินค้าของตนยิ่งกว่าเดิมมาก โดยมองว่าแบรนด์ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการเสริมสร้างความยั่งยืนของโลก ผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องประดับและนาฬิกาคุณภาพสูงหันมานิยมแบรนด์ที่ดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบ ให้คุณค่าแก่ความหลากหลาย อีกทั้งมีภาพลักษณ์ที่ดึงดูดใจและน่าเชื่อถือทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ Feriel Zerouki รองประธานอาวุโสฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ของ De Beers Group มองว่า กระแสระดับโลกนี้มีแต่จะเติบโตขึ้น เนื่องจากนำโดยคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจอย่างจริงจังในประเด็นทางสังคมและมักจะนิยมผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากแนวทางที่ยั่งยืน

        Iris van der Veken กรรมการบริหารของ Watch and Jewellery Initiative 2030 เสริมว่า “เราอยู่ในยุคของความโปร่งใส ผู้บริโภคกลุ่มใหม่และการพัฒนากฎเกณฑ์ด้านการรายงานความโปร่งใสจะช่วยเร่งกระแสนี้ ผู้บริโภครุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z มักมองหาแบรนด์ที่ตรงกับตัวเอง แบรนด์ที่ชอบ และแบรนด์ที่อยากสวมใส่ ผู้บริโภครุ่นใหม่กลุ่มนี้มองหาจุดประสงค์และความเป็นของแท้ ในทางปฏิบัติเท่ากับว่าบริษัทต่างๆ ต้องดำเนินการและแสดงความก้าวหน้าที่วัดผลได้ตามระยะเวลาในทุกแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ดังนั้น ข้อมูลที่เข้าถึงได้ เปรียบเทียบได้ และโปร่งใสจึงมีความสำคัญ”

        Zerouki รายงานว่าในการวิจัยของ De Beers Group เมื่อไม่นานมานี้ ผู้หญิงร้อยละ 36 และ Gen Z ร้อยละ 39 เจาะจงหาข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานรับรองความถูกต้องของแบรนด์เมื่อจะทำการซื้อเครื่องประดับเพชร “นอกจากนี้ ผู้หญิงร้อยละ 40 กล่าวว่าการได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลบวกจากอุตสาหกรรมเพชรต่อชุมชนท้องถิ่นจะทำให้ตนเองมีแนวโน้มซื้อเพชรมากขึ้น ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวมากถึงร้อยละ 50 ในกลุ่มผู้บริโภค Gen Z แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่แท้จริงสำหรับแบรนด์เพชรที่จะแสดงความแตกต่างในแง่คุณค่าด้วยการให้ข้อมูลแก่ลูกค้าเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเพชรและผลลัพธ์เชิงบวกจากสินค้าดังกล่าว” เธอกล่าว


การดำเนินการในภาคอุตสาหกรรม

        บริษัทและสมาคมด้านสินค้าหรูหรากำลังทำตัวเป็นแบบอย่างเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมเป้าหมายด้าน ESG สู่แวดวงเครื่องประดับในวงกว้าง

        Watch and Jewellery Initiative 2030 ในเจนีวา ก่อตั้งโดย Kering และ Cartier เพื่อดำเนินการตามหลักการสิบข้อและเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืน 17 ข้อของ UN Global Compact โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรวมแบรนด์นาฬิกาและเครื่องประดับทั่วโลกมาร่วมเดินทางสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับต่ำ และช่วยให้แน่ใจว่าอุตสาหกรรมนี้ได้สร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้แก่โลกและผู้คนตลอดห่วงโซ่อุปทาน โครงการนี้เปิดตัวในเดือนตุลาคม 2021 โดยมีสมาชิกเป็นบรรดาแบรนด์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง Gucci, Pomellato, Qeelin, Cartier, Chanel Watches & Jewellery, Boucheron, Swarovski, Rosy Blue และ Dimexon เป็นต้น โครงการนี้เน้นประเด็นสำคัญสามข้อคือ การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การอนุรักษ์ทรัพยากร และการยอมรับความแตกต่าง

        ปัจจุบันการวัดผลการดำเนินงานที่โปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนถือเป็นส่วนสำคัญของแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและจำเป็นสำหรับการรักษาความเชื่อมั่นต่อกิจการ

        Watch and Jewellery Initiative ร่วมงานกับ ESG Book ผู้นำระดับโลกด้านข้อมูล การวิจัย และเทคโนโลยีความยั่งยืน เพื่อเปิดตัวสายงานเฉพาะด้านที่ประกอบด้วยแบรนด์ ผู้ผลิต และผู้จัดหารายใหญ่เพื่อพัฒนาวิธีการรายงานบนพื้นฐานแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในระดับสากล “ขั้นต่อไปคือการดำเนินการนำร่องตามกรอบที่กำหนด และเราจะสำรวจวิธีการขยายโซลูชันนี้โดยขึ้นอยู่กับผลการศึกษาที่ได้รับ เรากำลังทำโครงการพิเศษด้านการให้ความรู้สำหรับ SME ร่วมกับ Global Compact ของสหประชาชาติด้วย เนื่องจากเราเชื่อว่าการนำทุกคนมาร่วมเดินทางสู่ความยั่งยืนถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง” Van der Veken เผย

        De Beers Group ลงทุนเพื่ออนาคตด้วยการดูแลให้เพชรทุกเม็ดที่ขุดมาได้สร้างผลลัพธ์เชิงบวกแก่ผู้คนและชุมชนท้องถิ่นในบริเวณที่มีการขุดเพชรเม็ดนั้นขึ้นมา

        “เรามีหน้าที่สนับสนุนประเทศและชุมชนในบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งเหมือง ไม่เพียงในแง่การจ้างงาน การจัดซื้อในท้องถิ่น และการจ่ายภาษีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจระดับกว้างที่ช่วยสนับสนุนชุมชนและเศรษฐกิจให้ยั่งยืนและเจริญรุ่งเรือง เราเข้าใจดีว่าในฐานะผู้นำอุตสาหกรรม เรามีโอกาสเฉพาะตัวในการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติด้าน ESG ภายในอุตสาหกรรมนี้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น” Zerouki กล่าว

        กลยุทธ์ ESG ของ De Beers มีชื่อว่า ‘Building Forever’ และประกอบด้วยเสาหลักสี่ประการ ได้แก่ การเป็นผู้นำด้านแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง การปกป้องธรรมชาติ การสนับสนุนชุมชนให้เจริญรุ่งเรือง และการเร่งส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมกัน


โครงการ GemFair ของ De Beers Group

        เนื่องจากผู้บริโภคต้องการทราบแหล่งที่มาของเพชรมากยิ่งขึ้น De Beers จึงเร่งโครงการด้านความสามารถในการติดตามแหล่งที่มาด้วยบล็อกเชน TracrTM เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและมุ่งสู่เป้าหมายการติดตามแหล่งที่มาโดยสมบูรณ์ภายในปี 2030 นอกจากนี้ ยังตั้งปณิธานที่จะช่วยสนับสนุนการปรับปรุงการทำเหมืองเพชรแบบดั้งเดิมให้เป็นระบบมากขึ้นด้วย Zerouki กล่าวว่า “แม้ว่าเราไม่ได้ดำเนินงานในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวโดยตรง แต่มันก็เป็นแหล่งจัดหาเพชรสู่ตลาดโลกที่มีความสำคัญและยิ่งสำคัญขึ้นไปอีกต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนนับล้านๆ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาความยากจนรุนแรงที่สุดในโลก เราต้องการช่วยส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมนี้ให้เป็นแหล่งจัดหาเพชรที่ได้รับความเชื่อมั่น และจะทำโดยการขยายโครงการโดยเฉพาะด้านการทำเหมืองเพชรแบบดั้งเดิมและขนาดเล็กของ GemFair ซึ่งปัจจุบันดำเนินงานอยู่ในเซียร์รา ลีออน” GemFair มุ่งที่จะช่วยปรับภาค ASM ให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น

        EM ก่อตั้งขึ้นในปี 2004 โดยเป็นชุมชนของผู้ซื้อ ผู้จัดหา และนักออกแบบเครื่องประดับทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าซึ่งส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกแง่มุมของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ EM มีภารกิจที่จะผลักดันการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบในธุรกิจเครื่องประดับผ่านการให้ความรู้ การติดต่อเชื่อมโยง และการลงมือปฏิบัติ

        “สมาชิกส่วนใหญ่ของ EM เป็นธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ช่างทำเครื่องประดับและช่างฝีมือ ที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันกับองค์กรว่าต้องการสร้างแวดวงเครื่องประดับที่ผลิตสินค้าอันสวยงามโดยไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม” Wheat กล่าว พร้อมเสริมว่าธุรกิจกลุ่มนี้อาจไม่ได้พบความท้าทายด้าน ESG เหมือนกิจการขนาดใหญ่ สมาชิก EM จึงอาจมีข้อได้เปรียบเนื่องจากเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กสามารถลงมือและติดตามการดำเนินการอย่างยั่งยืนได้ง่ายกว่า 

        เมื่อไม่นานมานี้ EM ได้เปิดตัวโครงการรีไซเคิลเครื่องประดับและการทำเหมืองในชุมชนด้วยแนวทางใหม่ที่มีชื่อว่า Radical Jewelry Makeover โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างการทำเหมือง งานช่างโลหะ กิจกรรมทางสังคม ความร่วมมือกัน และศิลปะ

        Christina T. Miller Consulting และทีมงานที่ปรึกษามืออาชีพเป็นผู้บุกเบิกด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2004 “เรามุ่งเน้นกิจกรรมที่แตกต่างซึ่งแบรนด์สามารถทำได้เพื่อปรับปรุงผลกระทบจากกิจการของตน เรามุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ประหยัดต้นทุนจากประเด็นเหล่านี้” Christina Miller ที่ปรึกษาผู้ได้รับรางวัลด้านเครื่องประดับเพื่อความยั่งยืนกล่าว เธอทำงานร่วมกับลูกค้าเพื่อรับมือกับผลกระทบจากกิจการของลูกค้าต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงพิจารณาว่าควรเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินธุรกิจในแง่ธรรมาภิบาลอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านต่างๆ ดังกล่าว

        “เราไม่ได้แค่ช่วยให้ลูกค้าดำเนินการได้ตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมและผ่านการรับรอง แต่ยังตรวจสอบให้แน่ใจว่ากรอบพื้นฐานด้านจริยธรรมที่ลูกค้าใช้กับกิจการของตนนั้นได้ปรากฏอยู่ในการจัดหาและการตัดสินใจอื่นๆ ในทางธุรกิจด้วย” เธอเสริม “เรายอมรับความเป็นจริงที่ว่าต้นทุนในการดำเนินการตามกรอบจริยธรรมและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผลกำไรของผู้ถือหุ้นนั้นก่อให้เกิดความตึงเครียดขึ้นได้ แต่เราเลือกให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติและกิจการที่มีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง”


ตัวเลือกแบบ Fairmined

        การทำเหมืองทองได้รับการจับจ้องมากยิ่งขึ้นว่าอาจพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมลพิษจากตะกั่ว นอกจากนี้ เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผู้ผลิตเครื่องประดับก็ถูกกดดันให้หลีกเลี่ยงการใช้ทองและเพชรจากรัสเซีย

        มีการอ้างถึงข้อเท็จจริงที่อาจขัดแย้งกับผลลัพธ์เชิงบวกจากทองรีไซเคิล กล่าวคือ ทองที่มาจากการทำเหมืองแบบผิดกฎหมายนั้นได้ถูกนำไปฟอกให้กลายเป็นทองรีไซเคิลแล้วส่งกลับเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น จึงมีการหันไปหาแนวทางทองแบบ Fairmined ซึ่งเป็นป้ายกำกับเพื่อรับรองทองจากองค์กรด้านการทำเหมืองแบบดั้งเดิมและขนาดเล็กที่ดำเนินการอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ Wheat ให้ความเห็นว่า “ผู้ผลิตเครื่องประดับบางรายที่เป็นสมาชิก EM ให้ทางเลือกแก่ลูกค้าในการตัดสินใจ ราคาของทองแบบ Fairmined อาจทำให้ลูกค้าลังเล แต่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ช่วยส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคได้เช่นกัน”


เครื่องประดับรีไซเคิลจากนักออกแบบ Dana_Bronfman

        ผู้ผลิตเครื่องประดับและนักออกแบบอิสระเริ่มเล็งเห็นประโยชน์ในการร่วมมือกับกลุ่มผู้ทำเหมืองที่มุ่งเน้นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญมากขึ้นเกี่ยวกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบและต้องการความโปร่งใสอย่างเต็มที่ Polly Wales, Pippa Small, Ming Lampson, Dana Bronfman และ Saskia Shutt อยู่ในกลุ่มแบรนด์ที่เลือกใช้โลหะซึ่งผ่านการรับรองและสกัดโดยผู้ทำเหมืองในรูปแบบกิจการขนาดเล็ก

        Miller ให้ความเห็นว่า “โชคดีที่เราเริ่มเห็นความก้าวหน้าด้านการทำเหมืองทอง ทั้งนี้ The Initiative for Responsible Mining Assurance (IRMA) สำหรับกิจการระดับอุตสาหกรรม และ The Fairmined Standard สำหรับเหมืองแบบดั้งเดิมและขนาดเล็ก ได้ช่วยให้ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเงื่อนไขเบื้องต้นและจุดที่ควรปรับปรุง ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ผลิตเครื่องประดับซื้อวัตถุดิบจากกิจการเหมืองแบบดั้งเดิมและขนาดเล็กที่ผ่านการรับรองอย่างเช่น Fairmined และ Fairtrade กิจการเครื่องประดับจะสามารถสนับสนุนผู้ทำเหมืองและยืนยันได้ว่าทองที่ตนใช้นั้นผลิตขึ้นมาอย่างมีความรับผิดชอบ อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าผลกระทบในเชิงลบจะเป็นศูนย์”


เครื่องประดับรีไซเคิลจากนักออกแบบ Saskia Shutt


ความท้าทายในวงกว้าง

        เรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกได้รับการกล่าวถึงมากขึ้นและผู้บริโภคก็ต้องการให้การซื้อสินค้าสอดคล้องกับค่านิยมที่ตนยึดมั่น แบรนด์จึงตอบสนองด้วยการกำหนดภารกิจด้านความยั่งยืน ตั้งเป้าหมายด้านสภาพอากาศ และให้คำมั่นว่าจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ดี เมื่อผู้บริโภคสนใจในประเด็นนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็มีการกระทำที่เรียกว่า Greenwashing เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน Miller ได้ให้นิยามของคำนี้ไว้ว่าหมายถึงการโฆษณาหรือทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์มีความยั่งยืนมากกว่าที่เป็นจริง หรือการกล่าวอ้างเชิงสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีหลักฐานมายืนยัน

        “ยังไม่มีการลงความเห็นอย่างเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับนิยามของศัพท์ทางการตลาดที่เรามักจะพบเห็นได้ทั่วไป อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการวัดและเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทองรีไซเคิลเทียบกับทองที่ขุดขึ้นมาใหม่ หรือผลกระทบจากคาร์บอนของเพชรสังเคราะห์ที่ผลิตในห้องปฏิบัติการเทียบกับเพชรธรรมชาติที่ขุดขึ้นมาใหม่ มีคำกล่าวอ้างด้านสิ่งแวดล้อมมากมายที่ยากจะหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้” เธออธิบาย

        วิธีที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับ Greenwashing คือการให้สาธารณชนตั้งคำถามที่ถูกต้อง “หากบริษัททำการกล่าวอ้างต่อสาธารณะ ก็ควรจะสามารถให้หลักฐานยืนยันและตอบคำถามที่อาจเกิดขึ้นจากคำกล่าวอ้างนั้น หากคำตอบที่ได้รับยังคงคลุมเครือ ใช้แต่ศัพท์เฉพาะทางการตลาด หรือไม่มีคำตอบใดๆ เลย ก็ควรจะสงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็น Greenwashing” Miller กล่าว

        การรับมือกับ Greenwashing ก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ EM ต้องรับมืออยู่เป็นประจำ “สมาชิกแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านฟอรัม ที่ช่วยให้สมาชิกเข้าใจการกระทำแบบ Greenwashing และหลีกเลี่ยงการกล่าวอ้างหรือคำประกาศเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด พิสูจน์ไม่ได้ หรือเป็นเท็จ ดังที่พบในตลาดทุกวันนี้” Wheat กล่าว

        Van der Veken ระบุว่าความเชื่อมั่นนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกระทำที่มีความรับผิดชอบ บริษัทต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลที่โปร่งใสและละเอียดแม่นยำตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้เข้าใจการดำเนินงานของกิจการได้ดียิ่งขึ้น “จุดมุ่งหมายของเราคือการสร้างกรอบด้าน ESG ที่น่าเชื่อถือบนพื้นฐานแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในระดับสากล การทำงานขั้นต้นของเราได้เริ่มไปแล้วและเราจะคอยรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการดังกล่าว การได้รับข้อมูลด้าน ESG ที่แม่นยำและมีคุณภาพนั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ กระบวนการนี้ต้องอาศัยเวลาและการให้ความรู้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน” เธอเผย

        Yianni Melas นักอัญมณีศาสตร์และผู้สำรวจอัญมณีมากประสบการณ์ เชื่อมั่นในการคืนประโยชน์สู่ชุมชนผ่านการให้ความรู้ เป้าหมายของเขาคือการทำงานกับกลุ่มที่มุ่งเน้นการให้ความรู้แทนที่จะเป็นการรับรองความถูกต้อง

        เขากล่าวว่า “การตรวจสอบแหล่งที่มาไม่ได้มอบประโยชน์คืนสู่ต้นทาง แต่การให้ความรู้นั้นทำได้ ใครก็ตามที่ตอบแทนหรือเข้าร่วมในโครงการที่มอบความรู้ด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับถือเป็นการช่วยเหลือด้วยการ ‘คืนกำไร’ กลับไปอย่างจริงใจ อุตสาหกรรมของเราควรมุ่งเน้นการให้ความรู้เพื่อให้ระบบนิเวศน์ของทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับเครื่องประดับดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนในเหมืองต่างๆ ซึ่งก็รวมถึงการให้ความรู้ด้านการเจียระไนอัญมณี การออกแบบ การหล่อและการผลิต และที่สำคัญคือการฝังอัญมณี”

        ความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างก็กลายเป็นประเด็นด้าน ESG ที่สำคัญ เมื่อกิจการพยายามสะท้อนแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าและชุมชน มีการก่อตั้งสมาคม แผนการ แพลตฟอร์ม และโครงการใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองประเด็นเรื่องการทำงานของผู้หญิงและสมาชิกกลุ่ม BIPOC (คนผิวดำ คนพื้นเมือง และคนผิวสี) ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ

        กลุ่มเหล่านี้มีตั้งแต่องค์กรกำกับดูแลอย่าง CIBJO (The World Jewellery Confederation), Women’s Jewelry Association (WJA) และ Diversity Action Council (DAC) จนถึงโครงการอิสระโดยนักออกแบบ เช่น Bijules Incubator, Black in Jewelry Coalition และ Tiffany Atrium ไปจนถึงโครงการโดยผู้ค้าปลีก เช่น Greenwich St. Jewelers และ MatchesFashion ซึ่งกรุยทางด้วยการทำงานร่วมกับนักออกแบบที่มีพื้นเพแตกต่างหลากหลายและดำเนินโครงการที่มุ่งเน้นการให้คำปรึกษาและให้ความรู้ แพลตฟอร์มเหล่านี้จำนวนมากนำเสนอความเห็นที่โปร่งใสและบทสนทนาที่เปิดกว้างเกี่ยวกับความท้าทายในการดำเนินงานส่วนต่างๆ ภายในอุตสาหกรรมนี้


ข้อมูลอ้างอิง


JNA. 2023. ESG in the jewellery trade. [Online]. Available at https://news.jewellerynet.com/tk/jnanews/
features/25065/030823.

เอกสารแนบ

เราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้   ตั้งค่า ยอมรับ

×
140 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ชั้น 4 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
โทรศัพท์: 0 2634 4999 ต่อ 444
โทรสาร: 0 2634 4970
external-site