ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

พาแบรนด์เครื่องประดับเดินทางสู่ความยั่งยืน

Nov 5, 2024
304 views
0 share

        Jeanine Hsu ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ niin แบรนด์ที่ขับเคลื่อนด้วยความยั่งยืน กล่าวว่า การสร้างแบรนด์ที่ยึดความยั่งยืนอาจฟังดูน่าหวั่นใจแต่มันเป็นขั้นตอนแรกที่จำเป็นในการทำให้แนวคิด “องค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม” กลายเป็นวิถีปฏิบัติในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ 

หลังจบการศึกษาทางด้านแฟชั่นจากลอนดอนเมื่อปี 2001 Jeanine Hsu ตระหนักถึงปริมาณขยะในอุตสาหกรรมแฟชั่น และคิดว่าบางอย่างต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง ในระหว่างการเดินทางไปยังฟิลิปปินส์เธอได้เห็นกลุ่มแม่บ้านชาวประมงเก็บเศษไม้ที่ลอยมาในทะเล ยิ่งทำให้ Hsu เกิดความมุ่งมั่นในเรื่องความยั่งยืน เพราะเธอประทับใจในความคิดบวกของชุมชนนั้นและได้เห็นว่าของที่หาได้ยากจากทะเลมีค่ามากเพียงไร จึงตั้งใจที่จะรีไซเคิลขยะและนำมาใช้สร้างสรรค์งานออกแบบที่มีเอกลักษณ์ของเธอ

ตอนนั้น Hsu ได้หารือกับหนึ่งในอาจารย์ของเธอซึ่งผลิตเครื่องประดับให้กับบริษัทประเภทเดียวกับ LVMH ถึงความเป็นไปได้ในการใช้ทองรีไซเคิลแต่กลับพบกับความกังขา อีกเกือบสิบปีต่อมา เมื่อคอลเลกชันเครื่องประดับแท้คอลเลกชันแรกของ niin เปิดตัว หนึ่งในลูกค้าของอาจารย์ท่านนั้นเรียกหาใบรับรอง Responsible Jewellery Council (RJC) เพื่อที่จะทำงานร่วมกับอาจารย์ท่านนั้นต่อไป

Hsu ก่อตั้ง niin เมื่อปี 2009 ในปัจจุบันแบรนด์ดังกล่าวมีจุดจำหน่ายสินค้ากว่า 30 แห่งทั่วโลกและมีเป้าหมายคือการขยายกิจการออกไปอีกในช่วงห้าปีข้างหน้า นอกจากนี้ ในปี 2022 ยังได้ย้ายที่ตั้งไปยังบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย 

อย่างไรก็ตาม เส้นทางในการเดินทางไปสู่ความยั่งยืนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การดำเนินงานโดยยึดหลักความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องความมีประสิทธิภาพ เพราะมันกินเวลาและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ด้วยเหตุนี้จึงไม่ค่อยจะเป็นตัวเลือกแรก 

        “จนกว่าคนที่คิดแบบเราจะมีจำนวนมากพอที่จะช่วยกันผลักดันและทำให้มันกลายเป็นวิถีปฏิบัติตามปกติ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาหาข้อมูลความรู้ เป็นความรับผิดชอบของเราในฐานะนักออกแบบและผู้นำอุตสาหกรรมที่จะคิดนอกกรอบและเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของโลกและผู้ที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้” Hsu กล่าว

การเดินทางไปสู่ความยั่งยืน

ที่ niin วัตถุดิบทั้งหมดที่ใช้ในชิ้นงานเครื่องประดับมีความหมายมากกว่าแค่ความสวยงาม ตัวอย่างเช่น ไม้ที่ช่วยสร้างความรู้สึกมั่นคงแต่ผ่อนคลาย เปลือกหอยให้ความรู้สึกถึงความบริสุทธิ์สะอาด ควอตซ์ช่วยสร้างการตื่นรู้ และอื่นๆ อีกมากมาย


ตัวอย่างเครื่องประดับแบรนด์ niin คอลเลกชันหยกที่สะท้อนให้เห็นถึงความสงบและความบริสุทธิ์ การใช้หยกซึ่งเป็นอัญมณีแห่งการปกป้องช่วยเพิ่มความรู้สึกได้รับการดูแลเอาใจใส่ ถือเป็นของขวัญอันล้ำค่า

โดยชิ้นงานเหล่านี้ผลิตขึ้นจากเงินและ/หรือทองเหลืองรีไซเคิลชุบเคลือบด้วยทอง 18k ภาพจาก https://niin.co/

ขณะเดียวกัน กรรมวิธีการผลิตใช้การจัดหาวัตถุดิบที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เช่น โลหะรีไซเคิล อัญมณีที่มาจากการค้าที่เป็นธรรม และเพชรสังเคราะห์ นอกจากนี้ แบรนด์ยังให้ความสำคัญกับวิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการใช้น้ำและพลังงาน และแนวปฏิบัติด้านแรงงานอย่างมีจริยธรรม 

ในการสนับสนุนแผนการด้านความยั่งยืนในขั้นต่อไป niin ได้ร่วมมือกับ Carat* London ในการผลิต Gentle Diamonds หรือก็คือ เพชรสังเคราะห์ นั่นเอง  

Hsu อธิบายว่า “เรามั่นใจเรื่องผลกระทบที่เพชรจากเหมืองมีต่อโลกในเรื่องการใช้พลังงานและน้ำรวมถึงสวัสดิภาพของคนงานและเราเชื่อว่าลูกค้าของเรารู้สึกเช่นเดียวกัน ดังนั้น เราจึงใช้แต่เพชรสังเคราะห์ในคอลเลกชันต่อๆ ไป”

นอกจากนี้ แบรนด์ยังให้การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นโดยการให้ค่าแรงที่เป็นธรรมแก่ช่างฝีมือและการแบ่งปันข้อมูลห่วงโซ่อุปทานที่มีความโปร่งใสเพื่อให้แน่ใจเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับและความรับผิดชอบ

        niin ใช้โรงงานผลิตที่มีขนาดเล็กกว่า และว่าจ้างช่างฝีมือในการสร้างงานออกแบบ Hsu กล่าวว่า “เราตั้งคำถามเสมอว่าจะสร้างชิ้นงานนั้นได้ด้วยความใส่ใจมากขึ้นได้หรือไม่ ถ้าเราไม่ได้เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบให้ช่างฝีมือ เราจะขอใบรับรองแหล่งกำเนิดจากพวกเขา” 


แปลและเรียบเรียงโดย ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 

พฤศจิกายน 2567