Infographic
ข้อมูลด้านการตลาด
ปี 2563
อุปทานเพชรในตลาดโลกและแนวโน้มในปี 2020
แม้ว่าปี 2019 จะเป็นปีที่ไม่ค่อยสดใสของอุตสาหกรรมเพชรมากนัก มีปริมาณเพชรออกสู่ตลาดลดลง 3.38% เนื่องจากปัญหาเพชรล้นตลาดและปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบหลายประการ แต่อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังเห็นว่าปัจจัยดังกล่าวกระทบตลาดเพียงช่วงสั้นๆ และคาดการณ์เชิงบวกว่า เพชรแท้จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 3% และเพชรสังเคราะห์จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% คงต้องตามต่อว่าปีนี้ปัจจัยลบจะชวดแล้วตลาดจะเติบโตเป็นหนูตกถังข้าวสารได้หรือไม่
ปี 2562
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยปี 2562
นปี 2562 สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยทำรายได้จากการส่งออก 15,689.18 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตสูงถึง 30.91% นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 (รองจากรถยนต์และคอมพิวเตอร์) และคิดเป็นสัดส่วน 6.37% ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย แต่เมื่อไม่รวมทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 8,095.65 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.34% โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทยที่ขยายตัวได้ดีคือ อินเดีย อาเซียน (สิงคโปร์ กัมพูชา และเวียดนาม) กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง (ยูเออี กาตาร์ คูเวต โอมาน) ในขณะที่ตลาดหลักเดิมอื่นๆ อย่างฮ่องกง สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าหดตัวลง สำหรับการส่งออกปี 63 จะต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก การกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ การประท้วงในฮ่องกง ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา และภัยธรรมชาติ อาจบั่นทอนการส่งออกของไทยในปีนี้
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2562
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2562 ทำรายได้ 14,968.05 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตสูงถึงร้อยละ 34.73 เมื่อเทียบกับปี 2561 นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.59 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทยรองจากรถยนต์ และคอมพิวเตอร์ โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวดีคือ ทองคำฯ เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ส่วนตลาดสำคัญที่เติบโตได้ดีคือ กลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ และกัมพูชา อินเดีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และคูเวต สำหรับปัจจัยที่ท้าทายส่งออกไทยปีหน้าที่ต้องติดตามคือ นโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ สถานการณ์ประท้วงในฮ่องกง และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจนล่าสุดร่วงลงไปอยู่ที่ระดับ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยเสียโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลก
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2562
ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ไทยทำรายได้จากการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับด้วยมูลค่า 9,025.29 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 30% เนื่องจากการส่งออกทองคำฯ ในสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งได้เพิ่มสูงถึง 72.76% แต่หากไม่รวมทองคำฯ พบว่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 4,433.09 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 2.59 โดยตลาดที่ยังขยายตัวได้ดีคือ อินเดียและอาเซียน ส่วนตลาดหลักอย่างฮ่องกง สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากผลกระทบของสงครามการค้า
แหล่งนำเข้าเครื่องประดับทอง 5 อันดับแรกในตลาดฮ่องกงในครึ่งแรกปี 2019
ในช่วงครึ่งแรกปี 2019 สินค้านำเข้าสำคัญของฮ่องกงที่ยังเติบโตเป็นบวกอย่างเครื่องประดับทอง ฮ่องกงนำเข้าจากจีน ฝรั่งเศส และอิตาลี ใน 3 อันดับแรก โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 13 ในขณะที่การนำเข้าพลอยเนื้อแข็งเจียระไนก็เพิ่มขึ้นสูง โดยนำเข้าจากไทยมากที่สุดด้วยมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 60.9% รองลงมาเป็นอินเดีย หดตัวลง 10.32% และเมียนมา ก็เติบโตสูงกว่า 1.94 เท่า ส่วนสินค้าสำคัญอื่นอย่างเครื่องประดับเงินและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ฮ่องกงนำเข้าลดลงเกือบทุกตลาด
ฮ่องกงนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับครึ่งแรกปี 2019
ฮ่องกง ผู้นำเข้าและส่งออกต่อรายใหญ่ของโลก มีการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับในช่วงครึ่งปีแรกลดลงถึง 16.86% จากผลกระทบของสงครามการค้าที่บั่นทอนภาวะเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าสำคัญชะลอตัว อีกทั้งนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นลูกค้าหลักก็เดินทางเข้าไปเที่ยวฮ่องกงลดลง และยังมีปัจจัยซ้ำเติมจากการประท้วงหลายครั้ง ส่งผลให้ฮ่องกงนำเข้าสินค้าลดลงเกือบทุกรายการ ยกเว้นเครื่องประดับทองและพลอยเนื้อแข็งเจียระไนที่ยังขยายตัวได้ในตลาดนี้
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยครึ่งแรก ปี 2562
ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2562 ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับได้สูงขึ้นร้อยละ 15.21 หรือมีมูลค่า 7,244.46 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีมูลค่า 6,288.18 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย รองจากรถยนต์ และคอมพิวเตอร์ โดยการส่งออกครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัวสูง เนื่องจากไทยส่งออกทองคำฯ ได้เพิ่มขึ้นมาก เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคาในจังหวะที่ราคาทองคำปรับตัวสูงและทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 18 เดือนในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ไทยส่งออกทองคำฯ ในเดือนดังกล่าวเพิ่มกว่า 3.17 เท่า อีกทั้งไทยยังส่งออกพลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนได้เพิ่มขึ้นด้วย
10 อันดับประเทศผู้นำเข้าเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงินรายใหญ่ของโลก ปี 2018
ในปี 2018 สวิตเซอร์แลนด์ นำเข้าเครื่องประดับทองเป็นที่ 1 ของโลก ตามมาด้วยฮ่องกง ทั้ง 2 ประเทศมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการนำเข้ารวม ส่วนสหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำเข้าในอันดับ 3 มีสัดส่วนราว 12% ส่วนผู้นำเข้าเครื่องประดับเงินรายใหญ่ของโลกยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา ด้วยสัดส่วนนำเข้าเกือบ 25% รองลงมาคือ เยอรมนี และฮ่องกง นำเข้าในสัดส่วน 11% และ 10% ตามลำดับ
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2562
ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยมีมูลค่า 4,605.80 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวลง 9.98% แต่หากไม่รวมทองคำฯ การส่งออกอัญมณึและเครื่องประดับที่แท้จริงจะมีมูลค่า 3,043.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.84% จากผลกระทบสงครามการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ท่ามกลางอุปสรรคดังกล่าวก็ยังพอมีโอกาสสำหรับผู้ปรับตัวได้ รู้ทันความต้องการผู้บริโภค และดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส ตลอดจนการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเป็นกระแสที่ผู้ซื้อให้ความสำคัญมากขึ้น
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม - เมษายน 2562
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2562 มีมูลค่าหดตัวลงร้อยละ 8.30 หรือมีมูลค่า 3,792.59 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีมูลค่า 4,136.04 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อหักทองคำฯ ออก การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงจะมีมูลค่า 2,376.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.21 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก อันเป็นผลกระทบทางอ้อมจากสงครามการค้า และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง